รถไฟฟ้าสายสีส้มขมขื่น?!?ฝืนใช้เกณฑ์ประมูลอื้อฉาว ทำล่าช้าเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน ท้าทายประยุทธ์หยุดคอรัปชั่น

1474

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ได้ดึงกระทรวงการคลังเข้าร่วม โดยส่งตัวแทนทำข้อตกลงคุณธรรม หวังว่าสามารถตอกย้ำเดินหน้าโครงการโปร่งใสได้ โดยตั้งเป้าขายซองรอบใหม่ ต.ค.นี้ ขณะที่ “บีทีเอส” ยังลุ้น 3 คดี ฟ้องร้องรฟม.เรื่องเปลี่ยนเกณฑ์TOR กลางคันจนทำให้การประมูลล่าช้าและเกิดข้อพิพาท-เกิดความเสียหายทางธุรกิจ  ทั้งนี้รฟม.แจงว่าต้องรอคณะกรรมการตามมาตรา 36 เป็นผู้พิจารณาเกณฑ์ที่จะใช้เปิดประมูล แต่ดูจากคำสัมภาษณ์หลายครั้งที่ผ่านมา รฟม.ยังยืนยันว่าการใช้เกณฑ์ใหม่ ที่เน้นราคา+เทคนิคเหมาะสม และอ้อมแอ้มตอบโต้ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เรื่องเกณฑ์ประมูลเก่า-ใหม่ไหนโปร่งใสเหมาะสม 

โดยล่าสุดดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งจราจรมหภาค ได้โพสต์เฟซบุ๊คตอบโต้ รฟม.ละเอียด พร้อมตั้งคำถามว่า เกณฑ์ประมูลแบบเดิมทำให้โครงการระบบขนส่งที่ผ่านมา สำเร็จเรียบร้อยดี ทำไมจึงเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ทั้งที่เรื่องพิพาทยังคาศาล มาฟังเหตุผลที่ดร.สามารถฯแจกแจง เกณฑ์ประมูลฉาวกันว่า จุดอ่อนซ่อนเงื่อนอะไรบ้าง?

ดร.สามารถฯโต้ รฟม. ปมเกณฑ์ประมูลฉาว น่าเวทนา! “อ้างผิดโครงการ”

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าการ รฟม.ได้ออกมาชี้แจงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ แม้ว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นการชี้แจงต่อข้อสงสัยของผมก็ตาม แต่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการชี้แจงข้อสงสัยของผม ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องโต้แย้งคำชี้แจงของท่าน ซึ่งไม่ได้ชี้แจงให้ตรงประเด็นข้อสงสัยอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ที่ติดตามเข้าใจคลาดเคลื่อน

ผมสรุปคำชี้แจงของ รฟม.ได้ 3 ประเด็น ดังนี้

  1. เกณฑ์ประมูล

1.1 ผมตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด รฟม.จึงเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจาก “เกณฑ์เดิม” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค (กรณีสายสีส้มตะวันตก ต้องได้ไม่น้อยกว่า 85%) ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา (กรณีสายสีส้มตะวันตกใช้ “ผลตอบแทน”) ต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ในวงการประมูลมักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์ราคา” (แต่อย่าลืมว่าต้องผ่านเทคนิคก่อน) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและยึดถือปฏิบัติกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. และของหน่วยงานอื่น

รฟม.เปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคาหรือผลตอบแทน มักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ รฟม.กำหนดคะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล

1.2 รฟม.ชี้แจงว่าเหตุที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้มีเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง รวมถึงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง

1.3 ผมขอโต้แย้งว่าถ้าเป็นไปตามข้ออ้างดังกล่าวจริง รฟม.ต้องใช้เกณฑ์ราคา เพราะเป็นเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคถึง 100% เต็ม การใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาเป็นการลดทอนความสำคัญข้อเสนอด้านเทคนิคลงจากเดิมที่มีคะแนนเต็ม 100% เหลือ 30% เท่านั้น ซึ่ง “ย้อนแย้ง” กับเหตุผลของ รฟม.ที่อ้างว่าต้องการได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง

อีกทั้ง ผมได้ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งมีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์และต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรกก็ใช้เกณฑ์ราคา ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จสมบูรณ์ และได้เปิดใช้งานในปี 2562 ทั้งๆ ที่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลไม่เคยมีประสบการณ์ในการขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน จึงถือได้ว่าเกณฑ์ราคาเป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้ผลดี

นอกจากนี้ ผมได้ยกตัวอย่างการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ซึ่งมีเส้นทางผ่านแหล่งชุมชนหนาแน่นและสถานที่สำคัญหลายแห่งโดยใช้เกณฑ์ราคาเช่นเดียวกัน ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์สูงจนทำให้งานก่อสร้างมีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้

1.4 รฟม.ไม่ได้ชี้แจงข้อสงสัยในประเด็น “ความย้อนแย้ง” และในประเด็นการใช้เกณฑ์ราคากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีส้มตะวันออกที่ได้ผลดี แล้วทำไมจึงไม่ใช้เกณฑ์ราคากับโครงการอื่นอีก? รฟม.พยายามยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาของหน่วยงานอื่นซึ่งมีไม่มาก รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.แค่เพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่เคยใช้เกณฑ์นี้เมื่อกว่า 20 ปีแล้ว

1.5 ผมขอโต้แย้งว่าโครงการทั้งหลายที่ รฟม.อ้างนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่โครงการรถไฟฟ้า และไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่อย่างเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ บางโครงการมีปัญหาถูกร้องเรียน เหตุที่ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.เพียงแค่ตัวอย่างเดียวเป็นเพราะโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม.ใช้เกณฑ์ราคาทั้งนั้น ใช่หรือไม่? ถ้าเกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาใช้ได้ผลดี แล้วทำไม รฟม.จึงเลิกใช้ไปอย่างยาวนาน น่าเสียดายที่ รฟม.ไม่ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เกณฑ์ราคาซึ่งมีมากมายโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า

“ที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่งก็คือ รฟม.อ้างว่าโครงการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) ในสนามบินสุวรรณภูมิก็ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา รฟม.ไม่รู้จริงๆ หรือว่า มีการใช้เกณฑ์นี้ในการประมูลแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องยกเลิกการประมูลไป 2 ครั้ง สุดท้ายในการประมูลครั้งที่ 3 ต้องใช้เกณฑ์ราคา”

อีกโครงการหนึ่งที่ รฟม.อ้างว่าใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา นั่นก็คือโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของ กทม. ก่อนอ้างโครงการใดโครงการหนึ่ง รฟม.ควรรู้ภูมิหลังของโครงการนั้นก่อนว่ามีปัญหาถูกร้องเรียนหรือไม่ สำหรับโครงการนี้นั้นในระหว่างการประมูลมีเสียงวิจารณ์ว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย จึงมีการร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. อีกทั้ง ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่ควรนำมาอ้าง

นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ควานหาโครงการทางด่วนที่ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคามาอ้าง ซึ่งพบว่ามี 2 โครงการ เป็นโครงการที่ประมูลนานมาแล้ว ประกอบด้วยโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งประมูลนานกว่า 30 ปีแล้ว และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งประมูลนานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ทำไมจึงไม่พูดถึงโครงการทางด่วนสายอื่นที่ล้วนแล้วแต่ใช้เกณฑ์ราคา โดยเฉพาะทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ที่บางสัญญาอยู่ในระหว่างการประมูล บางสัญญาเพิ่งประมูลเมื่อไม่นานมานี้

  1. ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ

2.1 ผมตั้งข้อสงสัยกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ซึ่งเป็นการประกวดราคานานาชาติ แต่ รฟม.กำหนดให้ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” เท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้รับเหมาต่างชาติที่มีขีดความสามารถแต่ไม่มีผลงานกับรัฐบาลไทย จะไม่สามารถเข้าประมูลได้ ซึ่งต่างกับการประกวดราคานานาชาติในโครงการอื่นของ รฟม.และของหน่วยงานอื่นที่อนุญาตให้ใช้ผลงานในต่างประเทศได้ แม้ว่าผมจะสนับสนุนผู้รับเหมาไทยก็ตาม แต่เราจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาต่างชาติด้วย

2.2 รฟม.ชี้แจงว่าได้ทำถูกต้องตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

2.3 ผมขอโต้แย้งโดยให้ รฟม.กลับไปดู พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8(2) ที่บัญญัติว่า “ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน” และระเบียบการทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 45 ที่ระบุว่า “ต้องไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม”

ทำไม รฟม.ไม่พูดถึงมติ ครม. 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมุ่งหวังให้การประกวดราคานานาชาติมีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง และให้ได้มาซึ่งผู้ที่ชำนาญ อีกทั้ง ทำไมไม่เหลียวดูหนังสือกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0208/2840 ลงวันที่ 7 เมษายน 2560 ที่ต้องการให้การประกวดราคานานาชาติช่วยลดการสมยอมราคา (ฮั้ว) ซึ่งถ้าเปิดให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้าแข่งขันได้หลายราย จะช่วยลดการฮั้วได้

2.4 รฟม.อ้างว่าทำถูกต้องตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรณีผลงานกับรัฐให้หมายถึงผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น

2.5 ผมขอโต้แย้งว่าการที่ รฟม.อ้างว่าได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการอธิบายคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ตามแบบฟอร์มมาตรฐานที่ใช้บังคับกับการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปว่าหมายถึงหน่วยงานของรัฐไทยเท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนข้อความในแบบฟอร์มนี้ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ (อ้างอิงข้อ 43 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบหนังสือที่ กค (กจว) 0405.3/59110 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563)

จึงมีเหตุชวนให้น่าสงสัยว่า ทำไม รฟม.จึงไม่ปรับเปลี่ยน “หน่วยงานของรัฐ” ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐ ต่างประเทศด้วย

  1. ข้อกฎหมาย

3.1 รฟม.มักกล่าวอ้างเสมอว่าได้ดำเนินการประมูลถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่เกี่ยวข้อง

3.2 ผมขอให้ รฟม.ย้อนไปดู พรบ. ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่ผมได้อ้างถึงข้างต้นว่า รฟม.ได้ทำถูกต้องจริงหรือไม่? ที่สำคัญ “การอ้างว่าได้ทำถูกต้องตามกฎ ระเบียบทุกอย่างนั้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น และไม่สามารถรับประกันได้ว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์สูงสุด”

3.3 รฟม.อ้างว่าจะจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

3.4 ผมขอถามว่า ถ้ามีข้อตกลงคุณธรรมแล้ว จะป้องกันการทุจริตหรือการฮั้วได้จริงหรือ? เนื่องจากหลายโครงการที่มีข้อตกลงคุณธรรมแต่กลับมีปัญหาในการประมูล เช่น รถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานที่ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางแค่เพียง 0.08% เท่านั้น

รฟม.ไม่ชี้แจงกรณีประเทศเสียหายปีละ 4.3 หมื่นล้าน

ผมได้ตั้งข้อสงสัยว่า หาก รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ก็จะไม่มีการล้มการประมูล ความล่าช้าในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศก็จะไม่เสียหาย ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึงปีละ 4.3 หมื่นล้านบาท แล้วใครจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น?

สรุป

ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้ากลางอากาศมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นการยากที่ผู้บริหาร รฟม.จะชี้แจงให้มีเหตุผลที่น่ารับฟัง หรือไม่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นใจผู้บริหาร รฟม.อย่างยิ่งที่อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

ผมเชื่อว่าข้อสงสัยและข้อโต้แย้งของผมนั้นมีเหตุผลที่ผู้บริหาร รฟม.ยอมรับได้ แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ว่าเห็นด้วย จำเป็นต้องค้าน มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่?ถ้าเห็นด้วยกับผม ไม่จำเป็นต้องเปล่งเสียงออกมา แค่พยักหน้าเท่านั้นก็เพียงพอ