จากที่สำนักข่าว นิกเกอิ เอเชีย รายงาน บริษัท ‘ซิโน ฟาร์มาซูติคอล ลิมิเตด’ ของบริษัท ‘ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป’ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ลงทุนเงิน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 1.54 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้โดยการเข้าซื้อหุ้น 15% ของบริษัท ‘ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์’ ที่เป็นหน่วยผลิตวัคซีน ‘โคโรนาแวค’ (CoronaVac) ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ซึ่งรัฐบาลไทยจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 2 ล้านโดส โดยคาดว่า วัคซีนชุดแรกจำนวน 200,000 โดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน
ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2564 บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้ส่งเอกสารข่าวเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยยืนยันไม่เกี่ยวกับการที่ภาครัฐของไทยได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากชิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส เพราะถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิต
“ถือหุ้น 15.03% ใน บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สัญชาติจีน เป็นเรื่องจริง เนื่องจากบริษัทพิจารณาว่า ในช่วงเวลายากลำบากนี้ วัคซีน เป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างมาก และเป็นการแข่งกับเวลา ทำให้ทุกประเทศในโลกต้องเร่งผลิตวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ทางซีพีดำเนินธุรกิจด้านเวชภัณฑ์มากว่า 20 ปีในประเทศจีน จึงขยับตัวได้อย่างรวดเร็วและมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ ผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีชื่อว่า โคโรนาแวค ซึ่งการซื้อหุ้นครั้งนี้ แล้วเสร็จลุล่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ในจำนวนเงิน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,427.85 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเข้าไปถือหุ้น 15.03% ในบริษัทดังกล่าว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น
ซีพีย้ำว่า การลงทุนครั้งนี้ทำให้ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล มีหุ้นส่วนน้อย เพียง 15.03% ในซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ และดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีนโคโรนาแวค และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 เป็นไปด้วยดี ทำให้การลงทุนเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม”
นั่นคือคำชี้แจงหรือจะเรียกคำแก้ต่าง หรือจะเรียกอะไรก็สุดแต่พิจารณาของผู้รับสาร ซึ่งล่าสุดวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน พบข้อพิรุธศบค.และหน่วยงานรัฐต่างๆในการออกคำสั่งและใช้มาตรการในการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก อาทิ
1) ปิดตลาดนัด ปิดร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อนเพราะไม่มีแหล่งขายสินค้า แต่รัฐไม่ปิดห้างสรรพสินค้าที่มีระบบแอร์ตลอดเวลาและเป็นสถานที่ปิด เป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า ซึ่ง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ก็ออกมาโพสต์ในโซเชียลยืนยัน ชี้ให้เห็นมาตรการของรัฐเอื้อกลุ่มทุนแต่ทุบพ่อค้า-แม่ค้า
2) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย แจกฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทั่วไป มีกำลังการผลิตของโรงงานอยู่ที่ 100,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเริ่มผลิตและส่งมอบให้กับทางราชการมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบันก็น่าจะเกือบ 30 ล้านชิ้น หน้ากากหายไปไหน ทำไมคนไทยยังต้องวิ่งซื้อหามาใช้อย่างยากลำบาก หรือเป็นเพียงการซ่อนเร้นอำพรางประชาชนเท่านั้น
3) นำวัคซีนป้องกันโควิดมาฉีดล่าช้า ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคนำมาใช้นานแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ลาว แต่ประเทศไทยโฆษณาชวนเชื่อมานานแล้วว่าจะซื้อวัคซีนจาก บ.แอสตราเซเนกา (ไทย-อังกฤษ) แต่กว่าจะนำมาใช้ก็กลางปี 64 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ต่อมามีการแก้เกี้ยวโดยการไปขอซื้อวัคซีนบางส่วนจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีนมา 2 ล้านโดส โดยชุดแรก 2 แสนโดสมาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้การที่รัฐบาลไปจัดหาวัคซีนจากจีน มีความเกี่ยวข้องกับการที่มีบริษัทเจ้าสัวจากเมืองไทยไปเข้าถือหุ้นใน“ซิโนแวค” ของจีน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กันและกันใช่หรือไม่ด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับจากการตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ค.63 ครบกำหนด 1 เดือน หลังจากโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีได้สร้างเสร็จสิ้น โดยได้ผลิตหน้ากากอนามัยแจกบุคลากรทางการแพทย์ 3,123,600 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลเล็ก กลาง ใหญ่ กว่า 250 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยรถที่ออกขนส่งทุกคันจะลงทะเบียนกับกรมการค้าภายในเพื่อควบคุมสินค้าออกจากโรงงานทุกวัน และบันทึกจำนวนเข้าออกทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า โรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ดำเนินการภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และผลิตโดย บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ด้วยกำลังการผลิตเดือนละ 3 ล้านชิ้น
และเมื่อวัยที่ 3 กันยายน 2563 เว็บไซต์ข่าวภายใต้ซีพี ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประกาศทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท หวังบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนโดยโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จภายใน 5 อาทิตย์ จะมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีความจำเป็น และประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงต่อไป
ขณะที่นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพ็ค จำกัด ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยซีพี เปิดเผยได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยฟรีแก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงประชาชนกลุ่มผู้เปราะบาง ไปแล้วประมาณ 8 ล้านชิ้น โดยมีจำนวนโรงพยาบาล องค์กรการกุศล และภาคประชาชนได้รับไปแล้ว 1,000 แห่ง