ยื้อต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว?!?ทำกทม. แบกหนี้กว่า 1 แสนล้าน รัฐบาลไม่ตัดสินใจจ่อล้มละลายขายหน้าปชช.

2931

กทม.แบกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทะลุ 1 แสนล้านบาท มีสิทธิ์ล้มละลายได้ เพราะข้ามปีแล้วยังไม่มีวี่แววได้ข้อสรุป เรื่อง การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างBTS กับกทม. ได้เวลาบิ๊กตู่เร่งตัดสินใจก่อนสาย ตัวเลขหนี้กทม.ต้องแบกรับภาระ 3 ก้อนใหญ่ทั้งหนี้งานโยธา งานระบบ และค่าจ้างเดินรถ รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทุกวันนี้ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ท่ามกลางการระบาดใหม่โควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้การเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ

คาราคาซังข้ามปี 

การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวครบสมบูรณ์หลังจากเปิดให้บริการส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต–สะพานใหม่-คูคต เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 โดยกรุงเทพมหานครกำหนดให้ส่วนต่อขยายนี้ให้บริการฟรีถึงวันที่ 15 ม.ค.2564 ท่ามกลางความยืดเยื้อของการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้าบีทีเอส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะกำหนดให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และด้านเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยไม่เสียค่าโดยสาร

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยออกมาระบุว่า สำหรับกรณีเรื่องค่าโดยสารนั้นอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะเก็บค่าโดยสารตามระยะทางทั้งโครงข่ายตลอดเส้นทางทั้ง 59 สถานี รวมระยะทาง 68 กิโลเมตร โดยเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 15-65 บาทเป็นเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ส่วนค่าจ้างเดินรถที่ค้างชำระกับเอกชนล่าสุดวงเงินอยู่ที่ 8,600 ล้านบาท จะเร่งหารือกับรัฐบาลร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ยังเคยให้สัมภาษณ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่างเป็นประธานเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 ว่า กรุงเทพมหานคร จะหารือร่วมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) สำนักการจราจรและขนส่ง และบีทีเอสเพื่อหาข้อสรุปรายละเอียดการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางว่าจะเก็บอัตราใด ซึ่งเบื้องต้นยืนยันว่าจะเก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาผลการศึกษาที่กำหนด 158 บาท เพื่อไม่สร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

“เรายืนยันที่จะเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตามที่เคยหารือกับบีทีเอสไว้ จะไม่ยอมให้เก็บถึง 158 บาท ซึ่งยอมรับว่าขาดทุนแน่ แต่กทม.จะรับผิดชอบเอง เพราะไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการนี้ จะเปิดให้ประชาชนนั่งฟรีถึงวันที่15 ม.ค.2564” พล.ต.อ.อัศวิน ระบุ

บิ๊กตู่ไม่ตัดสินใจไม่ได้แล้ว

อีกหนึ่งผลงานดีเด่นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือรถไฟฟ้าสารพัดสี หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางไทย ที่แจ้งเกิดได้อย่างคึกคักในสมัยของลุงตู่ยังสะดุดอยู่ที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คาราคาซัง ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ ทำให้กทม.ต้องทนแบกหนี้อย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจบลงเมื่อไร

การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระยะเวลา 30 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส ที่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งจะทำให้ กทม.ต้องแบกรับภาระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท หากไม่มีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกทม.ไม่มีเงินที่จะนำมาจ่ายหนี้ดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นองค์กรล้มละลายทั้งนี้ หนี้ที่กทม.จะต้องแบกรับภาระแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.หนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่กทม.ต้องรับมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้น 55,704 ล้านบาท ดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท รวม 69,105 ล้านบาท

2.หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,248 ล้านบาท ที่กทม.ต้องจ่ายให้บีทีเอส และมีกำหนดจ่ายภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 9,377 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 30 ปี นอกจากจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดทั้งเส้นทางตั้งแต่สมุทรปราการถึงคูคต รวมระยะทาง 68 กิโลเมตร 59 สถานี ถูกลงจาก 158 บาท เหลือไม่เกิน 65 บาทแล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ กทม.ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่จะถูกโอนหนี้ทั้งหมดไปให้บีทีเอสรับผิดชอบ และหลังจากที่มีการต่อสัญญาสัมปทานออกไป 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2572 บีทีเอสจะต้องแบ่งรายได้ให้กทม.ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้มากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งกทม.จะต้องเร่งหาทางออกเรื่องดังกล่าวกับรัฐบาลในการ่วมกันแก้ไขปัญหา

ติดปัญหาตรงไหน? การเมือง หรือ ผลประโยชน์ชาติ เรื่องนี้ลุงตู่ต้องกล้าตัดสินใจประชาชนจับตาว่า สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร ทุกการตัดสินใจต้องมีคำอธิบาย!