เพจดังจวกยับ พวกหยาบช้าหิวแสง โหนกระแส “พิมรี่พาย” ขึ้นดอย หมิ่นพระเกียรติร.9

10338

จากกรณีที่กลายเป็นประเด็นร้อนชั่วข้ามคืน หลังจากที่ “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า และยังเป็นยูทูปเปอร์คนดังด้วยนั้น โดยเจ้าตัวโด่งดังมาจากการขายสินค้าออนไลน์ และยังนำเงินไปช่วยเหลือคนยากจนบ่อย ๆ จนได้รับกระแสชื่นชมอย่างมากในโลกโซเชียล

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ชื่อของพิมรี่พาย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย หลังจากที่เจ้าตัว ได้มุ่งหน้าสู่ หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกเธอตั้งใจว่าจะนำแค่เสื้อผ้า รองเท้า มาม่า ปลากระป๋องและอาหารไปให้เด็ก ๆ เท่านั้น แต่เมื่อไปถึงแล้วได้เห็นสภาพเด็ก ๆ เนื้อตัวมอมแมม และคุณครูที่อยู่กับเด็ก ๆ ได้บอกว่า

“…เด็กที่นี่ …ไม่มีความฝัน… นึกภาพอะไรไม่ออก นึกภาพการเรียนต่อไม่ออก ไม่เคยมีใครจบสูงกว่า ม.ต้น ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ พ่อแม่ไม่มีรายได้ ไฟฟ้าก็เข้าไม่ถึง….”

ทำให้พิมรี่พาย ตัดสินใจควักเงินจำนวนส่วนตัว จำนวน 5 แสนกว่าบาท ไปติดตั้งไฟฟ้าโซลาเซลล์และมอบทีวีให้เด็ก ๆ

โดยพิมรี่พาย ยังบอกอีกว่า ต่อไปนี้ให้เปิดทีวีดูได้ตลอด ในนี้มีอาชีพมากมาย เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้มีความฝันในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอนาคต

แต่แล้วก็มีกระแสดราม่าตามมาทันที เมื่อมีการนำประเด็นนี้ มาใช้หมิ่นพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นด้วยมีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์ข้อความว่า “พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่…ขึ้นดอยมา 70 ปี …// ไม่พูดดีกว่า” ต่อมาเมื่อมีตรวจสอบ พบว่าเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก Street Hero Project ได้โพสต์ข้อความระบุไว้ด้วยว่า

#เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

หลายคนมีอารมณ์โมโห โกรธ หรือเสียใจ ที่ได้เห็นข้อความที่ใส่ร้ายและเหยียดหยามในหลวง ร.9
เรื่องราวดี ๆที่คุณ พิมรี่พาย ไปจัดงานวันเด็กและมอบแผงโซล่าเซลล์ให้กับน้อง ๆ ใน หมู่บ้านแม่เกิบ จ. เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และสร้างความสุขให้น้อง ๆ

กับกลายเป็นเรื่องที่บางคนนำมาบิดเบือน ขยายความโจมตีสถาบัน ใส่ร้ายและบูลลี่เรื่องความพิการทางสายตาของในหลวง

อยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่เหล่าคนที่อ้างว่าจะมาปฎิรูปสถาบันทำเรื่องชั่วช้าแบบนี้

อยากให้ทุกคนใจเย็น ตั้งสติ และปฎิบัติตามคำสอนของในหลวง ร.9 ท่านอดทนมาตลอด และ ห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า อย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย
เราก็ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของเขา

แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้มาโดยตลอด
ในหลวง ร.9 ท่านทรงห่วงใยและช่วยเหลือพี่น้องชาวเขาและชาวเผ่าเป็นอย่างมาก มีพระราชกรณียกิจหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ชาวเขาดีขึ้นตามยุคสมัย
หลายอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐบาล สส. อบจ. อบต. แต่ท่านก็ทรงช่วยเหลือมาโดยตลอด 60 ปี เป็นที่รู้กันชาวเขาและชาวเผ่า พวกเขารักและศรัทธาสถาบันเป็นอย่างมาก
หากพวกเขารู้ว่ามีบางคน นำเรื่องที่พิมรี่พายไปช่วยเหลือพวกเขา มาบิดเบือน โจมตี และใสร้ายในหลวง ร.9 และสถาบัน

พวกเขาคงเสียใจและปวดใจเป็นอย่างมากที่ตัวเองถูกใช้เป็นเครื่องมือมาทำร้ายคนที่เขารักและศรัทธา
#เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้เมื่อย้อนไปในปี 2560 วันชัย เบียผะ วัย 78 ปี ผู้เฒ่าเผ่าลีซู ที่เคยเล่นดนตรีถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่า ตนเองเคยได้เล่นดนตรีถวายพระองค์ท่าน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ที่บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2523 พ่อเฒ่า บอกว่า หลายปีแล้วที่ไม่ได้เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้บ่อยนัก ประกอบกับอายุมากขึ้นทำให้นิ้วไม่ค่อยมีแรง นอกจากความชราที่ทำให้นิ้วติดขัด ความโศกเศร้าที่ผ่านมาก็ทำให้ผู้เฒ่าเล่นดนตรีชิ้นนี้น้อยลงไปด้วย แต่เมื่อนึกถึงความหลังก็มีความสุข

หมู่บ้านปางสา อ.แม่จัน นับเป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเพียงแห่งเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมถึง 3 ครั้งติดต่อกัน คือนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2524 ความประทับใจอย่างไม่รู้ลืมเมื่อครั้งได้เล่นซึงถวาย

แม้เจ้าตัวบอกว่าตอนนี้ดีกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วมากนัก และถึงภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 จะแจ่มชัดในความรู้สึก ทว่า ความแม่นยำจากปากบางเหตุการณ์ อาจบอกได้ไม่เท่าเอกสาร

บันทึกของชาวบ้านปางสา ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระยศในขณะนั้น เสด็จพร้อมกัน 4 พระองค์

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงประชุมร่วมกับผู้นำหมู่บ้านต่าง ๆ คือ ปางสา จะหยี เล่าฝู่ โป่งป่าแขม ซึ่งขอพระราชทานพื้นที่ในทุ่งโป่งป่าแขมประมาณ 200 ไร่ เพื่อปรับเป็นพื้นที่ทำนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ทำฝายเพื่อส่งน้ำเข้าที่นา ขณะที่อีกสามพระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนนับพันคนจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มาเฝ้ารับเสด็จโดยพากันมารอตั้งแต่เช้า แม้จะรู้ว่าจะเสด็จมาถึงช่วงบ่าย 4 โมงเย็น แต่ทุกคนก็เต็มใจจะรอ

ผู้นำประเพณีได้ทำพิธีเรียกขวัญผูกด้ายสายสิญจน์ที่ข้อพระกร และถวายสุราพื้นบ้านจอกเล็ก ซึ่งทรงยกดื่มโดยไม่มีความรังเกียจ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอาคารเรียนของโรงเรียนชั่วคราวบ้านปางสา ซึ่งชาวบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าคา ตามที่หาได้ในท้องถิ่น จึงทรงพระราชทานเงิน 2 หมื่นบาท เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่

กว่าทุกพระองค์จะเสด็จกลับได้ก็เป็นเวลาฟ้ามืดแล้ว คืนนั้นยังอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้ เพราะมีลมพายุ ลมแรง เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งบินขึ้นไปแล้วสักครู่ ฝนและลูกเห็บก็ตกหนัก จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นลูกเห็บบนพื้นดินยังอยู่หนาเป็นคืบ ซึ่งปรากฏการณ์ลูกเห็บตกหนักเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น


“ ตอนที่เข้าเฝ้าอายุ 42 ปี ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่เลย ยิ่งอยู่ยิ่งแก่มาก ตอนนี้อายุ 78 ปีแล้ว ได้เข้าเฝ้าในหลวงทุกครั้งที่ท่านมา ได้ดีดซึงให้ฟังด้วย ชื่อเพลงอะไรจำไม่ได้แล้ว เป็นคนเดียวในหมู่บ้านตอนนั้นที่ได้ดีดซึงให้ในหลวงฟัง ตอนนั้นในหลวงมาสอน มาบอกชุมชน ประชาชนเรื่องทำมาหากิน ท่านถามว่าทำมาหากินอะไรอยู่ ทำอาชีพอะไร แล้วผมก็บอกในหลวงไปว่าทำไร่ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่ว ปลูกงา ปลูกพริก ทำสวน ทำนา ปลูกข้าวกิน หมูเลี้ยงไว้ไม่ได้ซื้อกิน ไก่ก็เหมือนกัน ไม่ได้ซื้อกิน ซื้อตลาดแค่เกลือกับเสื้อผ้า อย่างอื่นไม่ได้ซื้ออะไรซักอย่าง

“ตอนนี้ทำไร่ฝิ่นไหม?” ท่านถาม ผมบอกว่า เมื่อสองปีก่อน (ก่อนปี 2522) ทำอยู่ ตอนนี้ไม่ทำแล้ว เมื่อก่อนปลูกฝิ่นไกลๆ โน้น ก่อนในหลวงมา 2 ปีก็เลิกปลูก เพราะสมัยก่อนทางการก็ห้าม หลังจากราชการห้ามก็เลิก

ในหลวงบอกว่า “ดีแล้ว ไม่ต้องปลูกฝิ่น” แล้วก็บอกว่า “ปลูกผัก ปลูกผลไม้กินดีกว่า” ท่านพระราชทานพันธุ์ผักไว้ให้เยอะแยะ หลังจากนั้นพัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาก็มาส่งเสริมให้ปลูกเงาะ ปลูกลิ้นจี่ อีกเรื่องหนึ่ง ท่านก็ถามว่าประชาชนมีกินไหม พอเราบอกว่าไม่มีที่ทำกินไม่มีนา ในหลวงก็แบ่งที่นาให้คนละแปลงตามคนในบ้าน

“ ถ้าในหลวงไม่เข้ามาที่หมู่บ้านปางสา ก็ไม่เจริญ พระเจ้าอยู่หัวเข้ามา บ้านปางสาเจริญขึ้นเยอะ ตอนนั้นขาดน้ำ ไม่มีน้ำ แล้วก็ชลประทานมาทำน้ำให้ หลังจากนั้นมาดีขึ้นเยอะ ตอนนั้นในชุมชนในหมู่บ้านไม่สามัคคี หลังจากในหลวงเสด็จมา ท่านมาบอก มาสอนไว้ให้รักกัน สามัคคีกันให้มากขึ้น แล้วเรื่องทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่มี”

แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่าสามสิบปี รอยพระบาท รอยแย้มพระสรวล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ยังตราตรึงอยู่ในดวงใจของราษฎรทุกชาติพันธุ์ โดยส่งความกตัญญูกตเวทิตานี้แก่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง

ความปลาบปลื้มในนั้นนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิต และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงซาบซึ้ง แม้จะโศกเศร้าที่ได้สูญเสียผู้ปกครองที่มอบดวงใจถวายให้แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงทำเสมอมาตั้งแต่หนุ่ม กระทั่งตอนนี้ ก็คือการกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกครั้งที่ตื่นและก่อนนอน