จากที่ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีถูกกล่าวหาว่าเคยต้องโทษจำคุก 4 เดือนตามคำพิพากษามาแล้วเมื่อปี 2538
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง กำหนดจำนวน ส.ส.ที่มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงไว้ว่า ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะยื่นคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมนั้น สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.จำนวน 487 คน
“จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นคำร้องเพิ่มเติมลงวันที่ 29 ธ.ค. 63 แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามี ส.ส.จำนวน 2 คน คือ นางอนุรักษ์ บุญศล และนางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอถอนชื่อออกจากการเข้าชื่อเสนอคำร้อง ฉบับลงวันที่ 28 ธ.ค. 63 มีผลให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเหลือเพียง 48 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งบัญญัติ ทำให้คำร้องนี้ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย”
ด้านพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า “ จากกรณีที่วันนี้ (7 มกราคม 2564) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้อง กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า ญัตติดังกล่าวมีสมาชิกร่วมลงชื่อไม่ถึงหนึ่งในสิบของสมาชิกที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
พรรคเพื่อไทยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า คำร้องดังกล่าวเป็นของพรรคเสรีรวมไทย และได้ขอความร่วมมือให้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมลงชื่อเพื่อให้ได้ลายมือชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด พรรคจึงได้ขอให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคตรวจสอบคำร้อง
ระหว่างนั้นได้มีการนำเวียนเพื่อขอลายมือชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการประชุมสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมลงชื่อจนมีรายชื่อครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่มีมติพรรคหรือหนังสือสั่งการใดๆ จากผู้บริหารของพรรค
ต่อมาทราบว่ามีการให้สัมภาษณ์ในทำนองจะดำเนินคดีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมลงชื่อ ด้วยความสับสนดังกล่าวจึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้ขอถอนชื่อจากคำร้องดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องดังที่ทราบ
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าคำร้องของพรรคเสรีรวมไทยที่ให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ นั้นมีข้อเท็จจริงและมีประเด็นสาระ ควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัย
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในเรื่องการประสานและทำความเข้าใจร่วมกันในการเสนอเรื่องต่างๆ พรรคเพื่อไทยจึงขอยืนยันและแสดงเจตจำนงว่า จะร่วมกับพรรคเสรีรวมไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ในการร่วมลงชื่อเพื่อเสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเร็วต่อไป”
ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวนี้ลงนามโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ โพสต์เฟซบุ๊ก หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นักกิจกรรมเคลื่อนหวทางการเมือง ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ไว้ในเฟซบุ๊ก โดยเขียนเนื้อหาถึง3ช่วงเวลาด้วยกันคือ
โดยข้อความแรกระบุว่า “พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีคำร้องถอดถอนสส.สิระต่อศาลรัฐธรรมนูญสรุปว่าเป็นคำร้องของพรรคเสรีรวมไทย สส.ร่วมลงชื่อกันเองโดยไม่มีหนังสือสั่งการหรือเป็นมติพรรค และเมื่อมีการข่มขู่จะฟ้องร้องก็ถอนชื่อเองโดยไม่สนใจว่าจะมีผลอย่างไรตามมา ผมมีความเห็นสองเรื่อง เรื่องแรกกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการของพรรคที่ขาดการสื่อสารที่ดีและการยอมรับในตัวผู้บริหารพรรค เรื่องที่สองสส.ที่ถอนชื่อออกจนทำให้คำร้องตกไปเป็นสส.ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รู้จักหน้าที่ตนเอง ไม่มีความกล้าหาญในการเป็นผู้แทนของประชาชน โดนขู่นิดขู่หน่อยชักเข้าชักออกไม่รู้ว่ามาเป็นสส.พรรคเพื่อไทยได้อย่างไร”
ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2564 ฟอร์ด ได้โพสต์ข้อความที่สอง ระบุว่า ฝากคำเตือนถึงพรรคเพื่อไทย ถ้าบริหาร ส.ส.ไม่ได้ แล้วจะบริหารประเทศได้อย่างไร
และล่าสุดข้อความที่สามระบุว่า จากแถลงการณ์ของพรรคจะพบว่ามีสส.เพื่อไทยคนหนึ่ง (ยังไม่เปิดเผยนาม) มีพฤติกรรมเป็นงูเห่า ล้อบบี้ให้สส.เพื่อไทยคนอื่นถอนรายชื่อจากคำร้อง กรณีดังกล่าวจึงเป็นการยอมรับว่ามีสส.ที่ขายตัวไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาลทำตัวเป็นหนอนคอยบ่อนทำลาย และผมเชื่อว่าต้องมีมากกว่าหนึ่งคน เพียงแต่ตอนนี้ยังฝังตัวเองในเพื่อไทย ขอให้สังคมช่วยกันติดตามว่าเรื่องนี้จะเงียบหรือไม่