ฟันเปรี้ยง!!โกงถุงมือยางไล่ออก3 ชดใช้ 2 พันล้าน ส่อคุกยาว

1395

กระทรวงพาณิชย์ฟันแล้วทุจริตถุงมือยาง 1.125 แสนล้าน “จุรินทร์” สั่งไล่ออกข้าราชการอคส. 3 รายชดใช้ค่าเสียหาย 2,000 ล้าน ส่งปปช.สอบต่อ จับตาดูว่ารัฐบาลจะทวงเงินมัดจำจากเอกชนคืนได้ไหม และสาวไปถึงขาใหญ่บงการเบื้องหลังหรือไม่ เพราะปกติกรณีข้าราชการทำการใหญ่ถ้าหัวไม่กระดิกหางไม่ส่าย จัดเป็นอีกกรณีตัวอย่างให้ข้าราชการดูไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า ทำทุจริตคอรัปชั่นในหน้าที่ผลที่ได้รับในบั้นปลายชีวิตมันไม่คุ้ม 

 

วันที่ 6 ต.ค.2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการพิจารณาความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 3 ราย ที่ถูก อคส. แจ้งข้อกล่าวหาจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564  นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. ได้แจ้งว่า มีความชัดเจนจากคณะกรรมการทั้งสองชุดที่ตั้งขึ้นมา ว่า ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายและในราคาเท่าไหร่ ในวงเงิน 2,000 ล้าน รวมค่าดอกเบี้ย และอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการชี้โทษทางวินัยได้ข้อสรุปว่า ให้ชี้มูลความผิดโดยไล่ออกจากราชการ ทั้ง 3 คน และหลังจากนี้ ผู้อำนวยการ อคส. จะนำความเห็นเข้าสู่บอร์ดผู้บริหาร จึงจะเป็นข้อยุติ

รองนายกฯกล่าวว่า “ได้สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด โดยคาดว่า หลังจากนี้ คณะกรรมการชี้ความผิดทางละเมิดกฎหมายก็จะชี้มูลความผิดตามมาว่าใครจะต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นมูลค่าเท่าใดโดยเร็ว ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือจะต้องถูกชี้มูลความผิด และชดเชยอย่างไรก็เป็นหน้าที่และขั้นตอนของ ป.ป.ช. ต่อไป”

 

ส่วนกรณีการรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดที่มีนายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน คาดว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาเร็วๆ นี้ว่าใครจะต้องชดใช้ความเสียหายให้ อคส.เท่าไร เบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งได้สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด และต้องติดตามเงินที่ อคส.เสียไป 2,000 ล้านบาท ในการวางมัดจำกับบริษัทเอกชนพร้อมดอกเบี้ยต้องคืนมาให้ครบ

สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ ส่วนใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือจะต้องถูกชี้มูลความผิดและชดเชยอย่างไร เป็นหน้าที่และขั้นตอนของ ป.ป.ช.ที่จะพิจารณาและแถลงผล

บทลงโทษไล่ออกจะส่งผลให้ทั้ง 3 คนไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญใดๆ และ อคส.ยังจะฟ้องร้องเรียกเงินเดือนจากทั้ง 3 คนกลับคืน นับตั้งแต่ที่ความผิดเกิดขึ้น หรือตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อคส. เมื่อเดือน ส.ค. 2563 โดยได้ทำสัญญากับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้ผลิต และผู้ซื้อถุงมือยางจาก อคส.เพื่อไปขายต่ออีก 7 ราย และได้นำเงินของ อคส. 2,000 ล้านบาทจ่ายให้การ์เดียนโกลฟส์เป็นค่ามัดจำสินค้า โดยไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ด อคส. ถือว่าผิดกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่งผลให้บอร์ด อคส.มีมติให้นายเกรียงศักดิ์ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ทำหนังสือถึงดีเอสไอ, ป.ป.ช.พิจารณาความผิด และส่งเรื่องให้ ปปง.อายัดเงิน 2,000 ล้านบาท รวมถึงให้ระงับการดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด

โดนไปแล้วข้าราชการรัฐวิสาหกิจทุจริตถูกจับได้โดนไล่ออกสถานเดียว ที่อ่วมคงเป็นค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ ไม่พ้นติดคุกยาวแทน

นอกจากนี้ข้อพิรุธเกี่ยวกับ“บริษัท” ผู้ขายถุงมือให้ อคส.รายที่ได้เงินวางมัดจำแล้วถูกระงับฯ เป็นบริษัทไม่มีประสบการณ์เพราะเพิ่งก่อตั้งเมื่อ 22 มิถุนายน 2563 ก่อนจะทำสัญญาเพียง 2 เดือน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แต่กล้าทำสัญญาหลักแสนล้านบาท

มาดูกันบริษัทผู้ซื้อถุงมือยางจาก อคส. 7 ราย มีใครบ้าง

1.บริษัท ไทยสไมล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผักและผลไม้ จำนวน 52 ล้านกล่อง กล่องละ 225 บาท รวมเงิน 11,700 ล้านบาท

2.บริษัทกาโลลี่ แมนเนจเม้นท์ จดทะเบียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 223 บาท รวมเป็นเงิน 22,300 ล้านบาท

3.บริษัทเครเนค ลอว์ ออฟฟิส เป็นบริษัทจดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซื้อ 500 ล้านกล่อง กล่องละ 230 บาท รวมเป็นเงิน 115,000 ล้านบาท

4.บริษัท ควีนพาวเวอร์ คอมปานี จำกัด ซึ่งตรวจสอบที่ตั้งแล้วเป็นเพียงสำนักงานกฎหมาย สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 210 ล้านบาท มูลค่า 2,520 ล้านบาท

5.บริษัท ทเวนตี้โฟว์ คลีน เอ็นเนอร์จี้ สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 215 ล้านบาท รวมมูลค่า 2,580 ล้านบาท

6.บริษัท เคเค ออยล์ จำกัด สั่งซื้อ 50 ล้านกล่อง กล่องละ 220 ล้านบาท มูลค่า 11,000 ล้านบาท

และ 7.บริษัท เอ แอเมทิสต์ จำกัด สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 210 ล้านบาท มูลค่า 21,000 ล้านบาท

 

ในกลุ่ม 7 รายนี้ไม่ได้เป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับถุงมือยาง โดยพบมีถึง 3 สัญญา ที่ทำสัญญาอย่างมีพิรุธ เพื่อสร้างข้อมูลว่ามีคำสั่งซื้อจาก 3 บริษัท จำนวน 652 ล้านกล่อง 149,000 ล้านบาท นำไปอ้างว่า อคส.มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจัดหาถุงมือยางจำนวนมาก เพื่อไปขายให้ 3 บริษัทเหล่านี้ตามออร์เดอร์ที่สั่งมา จึงจำเป็นต้องเร่งเซ็นสัญญากับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ฯ

กระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องชี้แจงและเดินหน้าขุดมาแฉให้ประชาชนได้รับรู้ว่า เบื้องหลังการทุจริตใหญ่โตมโหฬารครั้งนี้  มีใครอยู้เบื้องหลัง ทำได้จริงจึงจะได้รับคำชม เพราะเอาผิดข้าราชการนั้นถูกต้อง แต่ยังคาใจว่า ไอ้โม่งขาใหญ่อยู่ที่ไหนช่วยตามหาให้ที???