เปิดลึกจากคดีเสื้อครอป“รุ้ง”ถึงคำวินิจฉัยศาล ส่งผลติดคุกยาวแล้ว จนคดีถึงที่สุด

1825

จากกรณีที่ ทวิตเตอร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความแจ้ง ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว รุ้ง ปนัสยา ในคดีม.112  ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอนนั้น

สำหรับ กิจกรรม ใครๆก็ใส่ครอปท็อป หรือ แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งคดีดังกล่าว พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีคำสั่งฟ้อง น.ส.เบนจา อะปัญ หนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ ภวัต หิรัณย์ภณ หรือ ป๊อกกี้ ในข้อหาหมิ่นสถาบัน มาตรา 112

ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของรุ่ง ปนัสยา  โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์เเล้ว ภายหลังจำเลยถูกฟ้องคดีนี้เเล้วก็ได้เคยกระทำความผิดตามลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องมาเเละ ยังถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีก ที่ศาลอาญาเกรงว่า ถ้าอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป จำเลยจะไปกระทำความผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก จึงให้ยกคำร้อง จากนั้นเจ้าหน้าราชทัณฑ์ ได้นำตัวน.ส.ปนัสยา ไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

อย่างไรก็ตามทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบรายละเอียดถึงคดีดังกล่าวพบว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563  เวลากลางวันต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยทั้งห้า กับพวกอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ได้บังอาจกระทําความผิดต่อกฎหมายเป็นตัวการร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามที่ได้สมคบเตรียมการและนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงกิจกรรมล้อเลียนดูหมิ่นและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อต้านพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

“แสดงบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทํา ได้แก่ ร่วมกันแต่งกายใส่ชุด Crop Top (ครอปท็อป หรือ ชุดเสื้อกล้ามเอวลอย) ร่วมกันเขียนถ้อยคําหรือข้อความตามเนื้อตัวร่างกาย ร่วมกันกล่าวคําพูดหรือถ้อยคํา แสดงบทบาท แสดงกิริยาอาการทางร่างกาย ใบหน้า และวิธีอื่นใดในทํานองเดียวกัน แล้วเดินวนเวียนไปมาที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมขนาดใหญ่”

นอกจากนี้ในวันดังกล่าว จำเลยทั้งห้าสวมชุดเสื้อกล้ามเอวลอยเขียนข้อความที่แขนและบริเวณเอว ยกเลิก112 ปฏิรูปสถาบันฯและข้อความล้อเลียน อื่น ๆ โดยมีแนวร่วมและผู้ชุมนุมจำนวนมาก ก่อนที่สน.ปทุมวัน แจ้งข้อดำเนินคดีกับพวกจำเลย โดยชั้นสอบสวนพวกจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ต่อมาศาลประทับฟ้อง คดีไว้พิจารณาหมายเลขดำอ.1180/2564 และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.เบนจา และนายภวัต จำเลยที่ 3-4 คนละ 2 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันฯหรือเข้าร่วมกิจกรรมใด หรือการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามกำหนดนัดอย่างเคร่งครัด

ล่าสุดวันนี้ 16 พฤศจิกายน 2564 นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ให้ความเห็น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ช่างบิด ความผิดไม่ได้อยู่ที่ใส่เสื้อคร้อบหรือไม่ใช่เสื้อคร้อบ แต่อยู่ที่การกระทำว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เหมือนกับการใส่เสื้อคร้อบไปปล้น ก็มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ จะมาเถียงว่าใส่เสื้อคร้อบไม่ผิดไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

การที่ศาลไม่ให้ประกันตัวรุ้งในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลคือเกรงว่าจะออกมาทำความผิดอีกซึ่งก็เป็นจริงดังที่ศาลวินิจฉัยนั้น จะมีผลทำให้คดีก่อนๆที่ได้รับประกันตัว อาจถูกเพิกถอนการประกันตัวทั้งหมดด้วย

ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือ ตำรวจที่จะต้องดำเนินการ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นอันว่า ติดคุกยาว คราวนี้อาจจะยาวถึงคดีถึงที่สุด จะเป็นแบบอย่างให้คนอื่นไม่กล้ากระทำความผิด หรือไม่กล้าผิดเงื่อนไขของศาลหรือไม่กล้าทำความผิดซ้ำ

ช่างบิด ความผิดไม่ได้อยู่ที่ใส่เสื้อคร้อบหรือไม่ใช่เสื้อคร้อบ แต่อยู่ที่การกระทำว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เหมือนกับการใส่เสื้อคร้อบไปปล้น ก็มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ จะมาเถียงว่าใส่เสื้อคร้อบไม่ผิดไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น”