อย.เบรกโรงพยาบาลดัง สั่งลบข้อมูลทุกอย่างบนเว็บไซต์ หลังเปิดให้จองวัคซีนโควิด-19 ชี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับรอง

3544

จากกรณีที่โรงพยาบาลชื่อดังย่านวิภาวดี ได้โฆษณาแพ็คเกจ เปิดจองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Moderna ในราคา 4,000 บาท จำนวน 1,000 ราย หมดเขตวันที่ 31 มกราคม 2564 นั้น

โดยต่อมาทางโรงพยาบาล ระบุว่า วัคซีนจะถูกนำเข้ามาประมาณเดือนตุลาคม 2564 โดยจะต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ และไม่สามารถคืนเงินได้ เนื่องจากเป็นการ สั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่สามารถเปลี่ยนผู้ฉีดได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถฉีดได้

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลให้ลบข้อมูลตามเว็บไซต์ดังกล่าวออก เพราะยังไม่สามารถทำการจองวัคซีนได้ เนื่องจากโดยหลักการแล้ว หากเป็นการผลิตวัคซีนหรือยา แม้ได้รับการรับรองจาก อย. ต่างประเทศ ว่าสามารถจำหน่ายหรือฉีดได้ แต่ถ้ามีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจะต้องผ่านอย.ของไทยก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากโรงพยาบาลดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์รับจอง ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม มียอดจองเต็มแล้ว จนกระทั่งประกาศปิดรับจอง เมื่อช่วง 11.30 น. ในวันที่ 27 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา


หากย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบมาประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อจองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส งบดังกล่าวครอบคลุมเรื่องการดำเนินการ และการเก็บรักษา ทั้งนี้ไทยจะซื้อวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดร่วมมือกับบริษัทแอสตราเซนนิกาในราคาทุน ตกโดสละ 5 เหรียญ เพราะไทยถือเป็นผู้ร่วมผลิต แต่หากไปซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น ราคาจะสูงกว่านี้

ยิ่งกว่านั้นวัคซีนของอ็อกฟอร์ด มีข้อมูลว่าเก็บรักษาง่ายกว่าด้วย ในส่วนของผู้ผลิตในประเทศ ทางรัฐบาล ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อาทิ ทีมจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 จะมีโอกาสคุยกับบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งเป็นอีกทีมผู้ผลิตซึ่งมีความคืบหน้าอย่างยิ่งเรื่องพัฒนาวัคซีน

“สิ่งที่เราได้จากการร่วมลงทุนจัดหา และพัฒนาก็คือราคาอยู่บนหลักการ ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเขาจะขายในราคาต้นทุน ในราคาต่ำ โดยอยู่ที่ราคาหลอดละประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 151 บาท) ต่อหลอด”

และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบ 6,049,723,117 บาท สำหรับสั่งจองซื้อวัคซีนโควิด 19 จากบริษัท แอสตร้า เซนเนกา จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งสามารถครอบคลุมการรักษาคนไทยร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน ซึ่งกรณีของเคสโรงพยาบาลดังจึงถือว่าเป็นการเปิดจองวัคซีนที่ยังไมีการตั้งคำถามมากมาย ทั้งเรื่อง นำเข้าวัคซีนจากบริษัทที่สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ นำเข้าโดยใคร และอาจจะเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อแก่ประชาชน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของอย.ไทยก่อน รวมไปถึงวัตุประสงค์ของการจองวัคซีนโควิด ในนามรัฐบาลนั้น ไม่ได้มุ่งหวังกำไรและต้องการฉีดให้ประชาชนฟรี เมื่อเปรียบเทียบกับเคสของโรงพยาบาลดังกล่าว

จะมีค่าจองวัคซีน จำนวน 4,000 บาท

ค่าฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในราคา 6,000 – 10,000 บาท