ก.คลังยันมีเงินพอรับมือโควิด-19 รอบใหม่ !?!เงินกู้รอบแรกเหลือเกือบ 6 แสนล้าน รวมงบฯกลางอีก1.1 แสนล้านบาท

2249

เช็คฐานะการคลังประเทศไทย มีเงินพอรับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่หรือไม่  จากกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทใช้ไป (ถึง2ธค.) 490,208.89 ล้านบาท เหลืออยู่ 509,791.10 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลควบคุมได้ เงินที่เหลืออยู่อาจพอ แต่ถ้าระบาดหนักกว่าเก่า คงต้องเขย่าแผนการใช้งบฯ64 กันใหม่ อย่างไรก็ตาม ก.คลังยืนยันว่า ประเทศไทยเป๋าตุง เพราะมีเงินสำรองต่างประเทศสูงสุด และประมาณการรายได้จากการเก็บภาษี Vat ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมาตรการกระตุ้นบริโภคไตรมาสแรกปี 2564 ผ่านคนละครึ่งและเที่ยวด้วยกัน จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีก 6 หมื่นล้านบาท  นอกจากนี้หากสถานการณ์รุนแรงยังมีเงินงบฯกลางสำรองอีก 110,032.7 ล้านบาท

รับมือระบาดโควิด-19 รอบใหม่ด้วยพลัง 3 ประสาน

แม่ทัพคนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รู้และวางแผนไว้แล้วว่าต้องใช้ 3 พลังประสานในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้พ้นปากเหวโควิด-19 คือพลังจากภาคการคลัง ภาคการเงิน และภาคตลาดทุน

รูปแบบการทำงานมีทั้ง มาตรการเยียวยา บรรเทาผลกระทบ และการฟื้นฟูสรุปว่ารัฐบาลมีเงินพอที่จะใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยา หรือผลกระทบสำหรับโควิด-19 ได้ถึงปีหน้า โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก และถ้ารุนแรงกว่าที่คาดเงินที่เหลือจากเงินกู้ไม่พอ รัฐบาลยังสามารถใช้งบกลางฯ 2 รายการ 110,032.7 ล้านบาท ได้แก่

  1. งบฯกลางกรณีฉุกเฉินจำเป็นปี 2564 จำนวน 69,707.1 ล้านบาท 2.งบฯกลางรายการค่าใช้จ่าย ในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน40,325.6 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงการคลังบอกไทยล่ำซำ

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 ปลัดกระทรวงการคลังยืนยัน มีเงินเพียงพอรับมือผลกระทบโควิดระบาดรอบใหม่ แจงมีหน้าตัก พ.ร.ก.เงินกู้ เหลืออีกเกือบ 6 แสนล้านบาท ชี้ฐานะการคลังแกร่งแม้รายได้รัฐได้รับผลกระทบ 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่ไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาด หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจนต้องมีการล็อกดาวน์ และคลังต้องออกมาตรการเยียวยาประชาชน รอบ 2 ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง มีเงินเพียงพอที่จะเข้ามาบริหารจัดการ และดูแลเศรษฐกิจต่อไปได้

โดยปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่าย 3.28 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบฯ ลงทุน 6 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเหลืออยู่เกือบ 6 แสนล้านบาท ขณะที่ฐานะการคลัง ช่วงต้นปีงบประมาณ ก็มีเงินคงคลังถึงกว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้สามารถกู้ชดเชยขาดดุล ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้กว่า 7 แสนล้านบาท

“เชื่อว่ารัฐ และสาธารณสุข จะสามารถเข้าไปควบคุมการแพร่ระบาดโควิดช่วงนี้ได้ การระบาดรอบนี้จะไม่เป็นวิกฤตเท่าไหร่ อยากให้มั่นใจเรื่องความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเท่าช่วงนี้ ซึ่งมีอยู่กว่า 2.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีช่องต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้ ภายใต้เกณฑ์วินัยการเงินการคลัง” นายกฤษฎากล่าว

เรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ก็ยังเชื่อว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ ซึ่งเมื่อสถานการณ์โควิดเข้ามา คลังได้เรียกหน่วยงาน และ 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมศุลกากร สรรพสามิต และสรรพากร เข้ามาหารือเรื่องการจัดเก็บรายได้ จึงได้มีการปรับประมาณการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่โดนโควิดกระทบ

“ที่ผ่านมา ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เห็นสัญญาณจากการบริโภคที่กลับมาค่อนข้างดี ส่งผลให้การเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 จากโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท และการเพิ่มเงินให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 2 หมื่นล้านบาท” นายกฤษฎากล่าว