สิงคโปร์เด็ดขาด!!ใช้กม.ความมั่นคงใหม่ คุมสื่อ-บุคคลเป็นภัยต่อชาติเบ็ดเสร็จ

1187

สิงคโปร์ออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่เรียกว่า ‘FICA’ ให้อำนาจรัฐบาลดำเนินคดีกับสื่อหรือบุคคลใดๆ ที่ก้าวก่ายกิจการภายในหรือเป็นภัยต่อสิงคโปร์ สามารถบังคับให้สื่อออนไลน์หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ต้องส่งมอบข้อมูลผู้ใช้ และยกเลิกการแชร์ข้อมูลที่เป็นภัยได้ บทลงโทษแรงทั้งจำและปรับ ทำกลุ่มสิทธิ์ฯโวยเรียกร้องให้ยกเลิก

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  สภานิติบัญญัติของสิงคโปร์พิจารณาผ่านกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับใหม่ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางในการดำเนินคดีกับสื่อหรือบุคคลใดๆ ที่รัฐบาลเห็นว่าก้าวก่ายกิจการภายในหรือเป็นภัยต่อผลประโยชน์แห่งรัฐ

โดยสภานิติบัญญัติของสิงคโปร์ผ่านกฎหมายความมั่นคงที่มีชื่อว่า Foreign Interference (Countermeasures) Act หรือที่เรียกย่อๆ ว่า FICA ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น 75 ต่อ 11 จากการที่พรรค PAP ของรัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งปกครองประเทศมานานถึง 56 ปีแล้วมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดอยู่ในสภา เป็นผู้นำเสนอ

โดยกฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบาลบังคับให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่างๆ ต้องส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้และปิดกั้นรวมทั้งยกเลิกการแบ่งปันข้อมูลใดๆ  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของรัฐได้  นอกจากนั้นกฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์ระบุบุคคลใดว่า มีนัยยะสำคัญทางการเมืองเพื่อบังคับให้บุคคลดังกล่าวต้องเปิดเผยความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือองค์กรในต่างประเทศด้วย

กฏหมายที่ว่านี้กำหนดบทลงโทษทั้งจำและปรับ คือจำคุกอย่างสูง 14 ปีและปรับไม่เกิน 741,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือ100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 25 ล้านบาท 

รัฐบาลสิงคโปร์ให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้มีความจำเป็นเพื่อปกป้องสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ซึ่งมีประชากรราว 5,700,000 คนและมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติจากภัยของการฉกฉวยและปลุกปั่นทางไซเบอร์โดยเฉพาะจากต่างชาติ

โดยนาย กสิวิศวะนะธัน ชันมูกัม (Kasiviswanathan Shanmugam) รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกระทรวงกฎหมายและกิจการภายในของสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์ได้เห็นการสร้างเรื่องราวต่างๆ อย่างหลากหลาย ที่แม้จะไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อโดยตรง แต่ก็มีส่วนทำให้บุคคลทั่วไปคิดในลักษณะที่ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายต่างประเทศ และว่าเรื่องนี้ นับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่สิงคโปร์เคยพบมา

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยถึงแม้จะไม่ได้โต้แย้งเรื่องภัยคุกคาม ของการก้าวก่ายแทรกแซงโดยต่างชาติ เพราะเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วพลเมืองสิงคโปร์รายหนึ่งถูกจับกุมในข้อหาเป็นสายลับ ให้กับหน่วยงานข่าวกรองของจีนก็ตาม

รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการใช้อำนาจเด็ดขาดอยู่แล้ว จะอาศัยกฏหมายนี้เพื่อปราบปรามกิจกรรมที่รัฐบาลไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นภัยความมั่นคง และเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมองค์กรนอกภาครัฐ 11 องค์กรซึ่งรวมถึง Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกคำแถลงขอให้รัฐบาลสิงคโปร์ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้

อินดา ลัคเดียร์ (inda Lakhdhir) ที่ปรึกษากฎหมายของ Human Rights Watch กล่าวว่าการที่รัฐบาลสิงคโปร์สามารถกำหนดได้เองว่าใคร  ทำการโดยเป็นตัวแทนของรัฐบาลต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล  เพราะภายใต้กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ มากมายนับตั้งแต่การทำงานร่วมกัน  การทำงานภายใต้คำสั่งหรือจากการร้องขอไป จนถึงการทำงานโดยได้รับเงินสนับสนุน  หรือร่วมมือกับองค์กรในต่างประเทศ ว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลสิงคโปร์ได้

ทั้งยังกำหนดด้วยว่า การก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของสิงคโปร์หมายรวมถึงความพยายามใดๆที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล สภานิติบัญญัติหรือมติมหาชนในเรื่องต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่โต้แย้งกัน 

ที่ปรึกษากฎหมายของ Human Rights Watch ชี้ด้วยว่าเรื่องนี้อาจมีผลครอบคลุมตั้งแต่การหารือทางวิชาการระหว่างบุคคลในสิงคโปร์กับในต่างประเทศเกี่ยวกับร่างกฏหมายที่สำคัญ หรือแม้กระทั่งการแสดงความเห็นและการเผยแพร่ความเห็นนั้น ก็อาจทำให้บุคคลดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนที่ได้รับอิทธิพลหรือถูกบงการโดยต่างชาติได้

นอกจากนั้นเนื้อหาและการบังคับใช้กฎหมายอาจครอบคลุมถึงการติดต่อทำธุรกิจระหว่างประเทศ กิจกรรมของภาคประชาสังคม รวมทั้งการทำงานของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

แต่เรื่องที่ทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้เป็นกังวลอีกด้านหนึ่งคือกลไกเกี่ยวกับการถ่วงอำนาจ เพราะศาลของสิงคโปร์จะสามารถวินิจฉัยข้อโต้แย้งจากกฎหมายนี้ ต่อเมื่อมีการฟ้องร้องเท่านั้น การอุทธรณ์หรือการวินิจฉัยขั้นท้ายสุด จะเป็นหน้าที่ขององค์คณะผู้ทบทวนสามคนที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีของสิงคโปร์ จากการเสนอชื่อของคณะรัฐมนตรีและมีประธานศาลฎีกาเป็นเป็นหัวหน้า

กลุ่มที่คัดค้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้เห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์เคยใช้กฎหมายต่างๆหลายฉบับ เพื่อควบคุมผู้ที่เห็นต่างมาแล้ว และกฎหมาย FICA นี้เป็นเครื่องมือชิ้นล่าสุดที่รัฐบาลสิงคโปร์สามารถนำมาใช้คุมเข้ม หากเนื้อหาที่มีการนำเสนอหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น รัฐบาลมองว่ากระทบความมั่นคงของชาติ จะไม่ได้อนุญาตให้ดำเนินการ