TikTok แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมของจีนโดยบริษัท ไบต์แดนซ์ จะประกาศขายกิจการในสหรัฐในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า ในวงเงินราว 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับบริษีทเทคฯของสหรัฐรายใดรายหนึ่ง ขณะข่าวลือจีนไม่ปลื้ม ว่าTikTok ยอมง่ายเกินไป ล่าสุดซีอีโอของTikTok ในสหรัฐได้ลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐ
ที่ผ่านมา TikTok ยังไม่ได้ตัดสินใจขายกิจการให้บริษัทใด ขณะที่กำลังเจรจากับออราเคิล ไมโครซอฟท์ และบริษัทสหรัฐแห่งที่ 3 ซึ่งน่าจะเป็นวอลมาร์ท ล่าสุดมีการคาดการณ์กันว่า ติ๊กต็อกอาจขายกิจการในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้ในไม่ช้าแม้จะมีการดำเนินคดีทางกฎหมายฟ้องปธน.ทรัมป์ แล้วก็ตาม
รัฐบาลและคนจีนไม่ปลื้มผู้ก่อตั้ง TikTok
ความพยายามของ จาง อี้หมิง (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้ง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ในการลบทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นจีนของแอปยอดนิยมตัวนี้ กำลังสร้างความเดือดดาลให้แก่ปักกิ่งและพวกยูสเซอร์ที่ใช้แอปต่างๆ ของเขาอยู่ในประเทศจีน
TikTok กำลังนับถอยหลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะที่คณะบริหารทรัมป์คอยเฝ้าติดตามรายงานต่างๆ เกี่ยวกับการเจรจาระหว่างบริษัทแม่ของ TikTok กับไมโครซอฟท์ ออราเคิล และวอลมาร์ทในเรื่องที่ฝ่ายหลังจะเข้ามาซื้อหาครอบครองแอปแชร์วิดีโอสัญชาติจีนตัวนี้ ที่วัยรุ่นอเมริกันจำนวนเป็นสิบๆ ล้านคนติดงอมแงม
สำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่งของ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok มีรายงานว่า จาง อี้หมิง (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้งบริษัทได้สารภาพไว้ในบันทึกภายในฉบับหนึ่งซึ่งส่งถึงบรรดาลูกจ้างพนักงานจำนวน 3,000 คนของเขา ว่าเขาประสบความล้มเหลวในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคำมั่นสัญญาจากทางรัฐบาลจีนที่จะหนุนหลังอย่างหนักแน่นใดๆ แก่ ByteDance ถึงแม้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ปักกิ่งยังคงให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่บริษัทเทคฯซึ่งเติบโตขึ้นมาในแดนมังกรแห่งอื่นๆ อย่างเช่น หัวเว่ย และ แซดทีอี เมื่อพวกเขาถูกสหรัฐฯ หาทางไล่บี้บีบเค้นกิจการเหล่านี้
พนักงานที่ขอให้สงวนนามของ ByteDance ซึ่งได้อ่านบันทึกภายในฉบับนี้ อ้างว่า จาง พูดอย่างชัดเจนว่า TikTok จะถูกขายให้แก่ผู้ซื้อสัญชาติอเมริกันก่อนถึงกำหนดเส้นตายกลางเดือนกันยายนที่ทรัมป์ขีดเอาไว้ จางยังคาดหมายว่าจะได้รับเงินตอบแทน “อย่างเหมาะสม” จากการขายแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ ซึ่งดึงดูดฐานยูสเซอร์ที่แอคทีฟได้ 26.5 ล้านรายในสหรัฐฯ นี้ ถึงแม้จะเกิดขึ้นมาจากการถูกบีบบังคับก็ตาม
กระนั้นยังคงมีรายงานทางสื่อจีนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมด้วยเหมือนกันว่า จางอาจจะไม่ทำตามการเรียกร้องขู่เข็ญของทรัมป์ หรือไม่ทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 15 กันยายน ซึ่งประมุขทำเนียบขาวระบุเอาไว้ว่า TikTok ต้องเปลี่ยนเจ้าของ หรือไม่แอปนี้ก็จะถูกสั่งห้ามใช้โดยสิ้นเชิงในสหรัฐฯ
นอกเหนือจากการประณามวิพากษ์ความพยายามของทรัมป์ในการรังแกบริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งให้ออกไปพ้นดินแดนสหรัฐฯ แล้ว ปักกิ่งก็ไม่ได้แสดงท่าทีหนุนหลังเอาด้วยอะไรอีก โดยเฉพาะกับกลยุทธ์การทำพีอาร์ในสหรัฐฯ ของ TikTok ซึ่งจางพยายามหาทางลบทิ้งอัตลักษณ์แห่งความเป็นจีนของ TikTok เพราะคิดว่ามันจะเป็นหนทางในการรักษากิจการของตนในอเมริกาให้รอดชีวิตต่อไปได้ ทั้งสื่อภาครัฐของจีน และประชากรชาวเน็ตจีนต่างพากันแสดงความไม่พอใจการที่จางยินยอมทำตามความเรียกร้องต้องการของวอชิงตันอย่างเซื่องๆ แต่ก็จางซาลงเมื่อชาวอเมริกันTikTok-WeChat รวมตัวยื่นฟ้องปธน.ทรัมป์ กับศาลสหรัฐ
เกมส์วิน-วิน น่าเป็นคำตอบที่TikTok ต้องการ
ในเวลาเดียวกัน ข่าวลือว่าผู้บริหาร TikTok จะขายกิจการ ทำให้ผู้สังเกตการณ์บางคนประเมินว่า การขาย TikTok ให้แก่ไมโครซอฟท์ สามารถที่จะตีความได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาดของจาง ในการทำตามข้อเรียกร้องของทรัมป์ โดยพร้อมกันนั้นก็เป็นการแสดงความรอมชอมกับปักกิ่งไปด้วย เนื่องจากไมโครซอฟท์ และบิล เกตส์ ที่เป็นผู้ก่อตั้ง ต่างถูกมองในแง่ดีจากปักกิ่งเสมอมา ทางด้าน ไชน่า บิสซิเนส นิวส์ (China Business News) ตั้งข้อสังเกตว่า ByteDance กับไมโครซอฟท์อาจเลือกใช้วิธีแลกหุ้นในธุรกิจของกันและกัน ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการแบบวิน-วินสำหรับทั้งสองฝ่าย
เพราะ TikTok จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปในสหรัฐฯ ขณะที่ไมโครซอฟท์ก็สามารถที่จะครอบครองส่วนแบ่งตลาดก้อนโตในภาคเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตต่อไปอีกมากมาย กระนั้นทั้งสองบรษัทต่างไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรต่อรายงานข่าวที่ว่า วอชิงตันอาจจะขอให้ไมโครซอฟท์ขายธุรกิจของตนในจีน ก่อนที่จะเข้าครอบครองเป็นเจ้าของ TikTok ก็ได้