ศรีสุวรรณจ่อบุก ก.แรงงาน จี้บังคับใช้กฎหมายเข้ม นายจ้าง-ต่างด้าว ต้นเหตุแพร่โควิด-19

2220

จากกรณีสถานการณ์โควิด-19 ลุกลามในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ 821 ราย ซึ่งมีต้นตอมาจากตลาดกุ้ง สมุทรสาคร และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวนั้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายจังหวัด เช่น กทม. อยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ปทุมธานี และอุตรดิตถ์ด้วย


ต่อมาทางด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ในพื้นที่สมุทรสาคร ระบุว่า “ท่านบอกว่า ตลาดกลางกุ้งเป็นปลายทาง ผลอาการที่แสดงออกมา เราต้องรีบไป การ์ดที่ต้นทางและแยกน้ำเสียออกจากน้ำดีให้เร็วที่สุด

ต้นทางคือ 1. ที่พักชาวพม่า มีเป็นหมู่บ้านใหญ่ขนาด 10,000 คน อยู่ 2-3 ที่ เจ้าหน้าที่ทางการทราบดี นอกจากนี้ ยังมีบ้านเช้า แฟลตโรงงาน พวกเราต้องช่วยกันให้ข้อมูล

2. แรงงานเถื่อนเข้ามามาก (เข้ามาง่าย เดินข้ามคลองมา ไม่ต้องว่ายน้ำเข้ามา) ทางราชบุรี สวนผึ้ง ฝั่งไทยมีงานทำ/เงิน/สาธารณสุข ดีกว่าบ้านเค้า เดินทางเข้ามาทุกวัน เป็นธรรมชาติที่เข้าใจง่าย

3. วัฒนธรรมเค้าอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน มีบรรยากาศแบบบ้านเค้าเลย กิน ร่วมกัน ห้องพักนึง อาจอยู่ถึง 8 คน กะละ 4 คน แบ่งเตียงกันนอน มีเวรทำอาหาร เป็นหม้อ ๆ กินเป็นระยะ 2-3 วัน กินร่วมกัน/ตักไปกินกลางวัน ประหยัดมาก ส่งเงินกลับช่วยครอบครัวที่บ้านเค้า

มาตรการด่วน ต้องเร่งแยกน้ำเสียออกมา เริ่มตั้งแต่ มหาชัยแล้วครอบคลุมทั้งจังหวัดสมุทรสาคร

1. ไม่ต้องห่วงเรื่องต่างชาติจะตำหนิไทยเรื่องสิทธิมนุษยชน ช่วงนี้

2. บุกไปที่พักหลัก ๆ คัดกรองเลย

3. หาสนามฟุตบอล ทำ แคมป์ชั่วคราว for this operation

4. ทางการไทยติดต่อทางการพม่า ส่งกลับพวกติดเชื้อ เพื่อส่งสัญญาณพวกแรงงานเถื่อนอย่าเข้ามาอีก

5. โรงงานอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ เตรียมตัวเรื่องความสะอาดในพื้นที่โรงงานและแรงงานถูกต้องตลอด แรงงาน

ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อพวกเค้ากลับไป ชุมชนเค้าตามที่บอกข้างต้น ยากนักที่การควบคุมจะตามไปถึง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แฉพฤติกรรมต่างด้าว ทำสมุทรสาครป่วน ยอดติดเชื้อจังหวัดเดียวพุ่ง 821 ราย

ล่าสุดทางด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ในตลาดค้าขายกุ้ง สัตว์น้ำ ฯลฯ ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆของคนไทยเสียหายกันอย่างยับเยินเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้นั้น


ปัญหาดังกล่าวแม้กระทรวงแรงงาน จะมีมาตรการของกระทรวงแรงงานในการควบคุมโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวแล้ว โดยเฉพาะแนวทางการตรวจคัดกรองโควิด ให้กับแรงงานต่างด้าวในระบบที่ถูกกฎหมายทั้งหมดประมาณ 250,000 คน โดยการจัดรถโมบายล์หรือหน่วยตรวจเคลื่อนที่ที่เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ออกตรวจตามแต่ละโรงงานหรือสถานประกอบการ และยังมีการตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่จังหวัดข้างเคียงจังหวัดสมุทรสาครแล้วก็ตาม

มาตรการดังกล่าวยังไม่ตอบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สถานประกอบการต่างๆ ที่เป็นแหล่งต้นเหตุของการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาด และเข้มงวดต่อนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นผู้ใช้แรงงานจากต่างด้าวทั้งระบบซึ่งแรงงานต่างด้าว จากจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานจำนวน 275,782 คน เป็นเมียนมา 243,617 คน, สปป.ลาว 13,200 คน, กัมพูชา 9,648 คน และสัญชาติอื่น ๆ 9,317 คน ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการวางระบบการตรวจสอบนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่เป็นสากล หากกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันไม่รองรับก็ต้องปรับปรุงหรือเสนอแก้ไขเสีย

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงจะนำความพร้อมข้อเสนอไปเรียนพบ รมว.กระทรงแรงงาน เพื่อให้ใช้มาตรการที่เด็ดขาดและเข็มงวดต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว อันจะเป็นแนวทางในการใช้วิกฤตมาเป็นโอกาสในการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้เป็นสากลต่อไป โดยจะเดินทางไปพบในวันพุธที่ 23 ธ.ค.63 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กทม.