ดร.ไตรรงค์ ยก 5 ข้อเหตุผล ทำไมจึงไม่จำเป็นต้องคิดแก้รธน. ชี้สถาบันฯ ก็พัฒนาไปสู่การปฏิรูปอยู่แล้ว

2862

ยังคงตามติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ที่มีการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยนั้น

ล่าสุด ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า “ผมมีความเห็นอยู่ 5 ข้อ ว่าทำไมมันถึง #ไม่จำเป็นต้องคิดจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ กันหรอก

สถาบันกษัตริย์ของเราก็กำลังพัฒนาไปสู่ความใกล้เคียงและใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระองค์เฉกเช่นที่มีการปฏิรูปอยู่แล้ว และจะเป็นไปโดยที่ไม่ต้องมีใครต้องบังคับเหมือนกับสถาบันกษัตริย์ในประเทศยุโรปทั้งหลายครับ

ผมอยากขอแค่ให้ #ใจเย็นกันหน่อย #อดทนกันหน่อย #ไม่ต้องหยาบคายกันหรอก #ไม่ช้าการปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นเอง และจะเป็นไปอย่างเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนที่รอคอยและยังหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (โดยไม่ต้องแก้ทั้งหมวด 1 และหมวด 2 เลยครับ) กดไปดูรูปถัด ๆ ไปเพื่ออ่านเนื้อหา ไล่เรียงตั้งแต่ 1 ไปจน 5 นะครับ”

(1) เดิมทีในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินของไทยมิได้ดำรงอยู่ในฐานะที่ห่างเหินจากประชาชนเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทำตัวอย่างให้เห็นดังปรากฏในหลักศิลาจารึกที่ทรงให้แขวนระฆังไว้หน้าประตูวัง ใครเดือดร้อนก็ให้มาตีระฆัง พระองค์ก็จะเสด็จออกมาพบปะพูดคุยรับทราบปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

(2) เมื่อมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรายกทัพไปตีเขมรมาเป็นเมืองขึ้น ได้กวาดต้อนผู้คนมากรุงศรีอยุธยามากมาย ในจำนวนนั้นมีพวกพราหมณ์รวมอยู่ด้วย พวกพราหมณ์นี้แหละได้นำ “ทฤษฎีเทวราช” จากเขมรมาเผยแพร่ในหมู่ชนชั้นปกครองไทย โดยทำให้ทุกคนเชื่อว่ากษัตริย์เป็น “สมมุติเทพ” ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อปกครองประชาชน จึงจะยอมให้กษัตริย์มีฐานะเท่ากับประชาชนไม่ได้ ต้องมีวิธีรักษาระยะห่างกับประชาชนเอาไว้ เช่น ผู้เข้าเฝ้าจะสวมเสื้อเหมือนพระมหากษัตริย์ไม่ได้ จะมองหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เป็นต้น ระยะห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนจึงมีมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุในหลายสาเหตุทำให้ประเทศสยามต้องเสียเอกราชให้แก่ประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2310

(3) ในสมัยราชวงศ์จักรี การปฏิรูปเพื่อลดระยะห่างดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราจะเคยชินที่ได้เห็นพระอิริยาบถของพระองค์เมื่อเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พระองค์ทรงเสวยทุกอย่างที่ประชาชนกิน ทรงดื่มทุกอย่างที่ประชาชนดื่ม ทรงนั่งทอดไข่ทอดปลาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทรงนุ่งกางเกงแพรไม่ทรงสวมเสื้อ นั่งบนเสื่อปูบนพื้นดินเสวยกระยาหารร่วมกับผู้ติดตามก็เป็นการปฏิบัติเหมือนอย่างคนไทยทั่ว ๆ ไปปฏิบัติกันในสมัยนั้น

(4) เมื่อถึงรัชกาลที่ 9 เราได้เห็นพระอิริยาบถ (เฉกเช่นรัชกาลที่ 5) เมื่อทรงเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชน ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ภาพที่พระองค์ทรงนั่งพิงล้อรถจิ๊ปเพื่อปรึกษาหารือกับประชาชนในการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ทุกคนคงจะยังจำกันได้

ครั้งหนึ่งเมื่อผมเป็น รมว. แรงงาน (พ.ศ. 2539) ได้นำผู้อำนวยการองค์การแรงงานแห่งสหประชาชาติ (ILO) เข้าเฝ้าที่ตำหนักสวนจิตรลดาฯ เมื่อเสร็จธุระ ฝรั่งลุกขึ้นจับมือในหลวงเพื่ออำลา ผมก้มลงกราบพระบาทแล้วคลานถอยหลังก่อนจะลุกขึ้นเพื่อคำนับ แต่พระองค์ท่านตรัสเรียกว่า “ไม่ต้องคำนับแล้ว ฝรั่งเขาไปแล้ว เหลือแต่เราสองคนมาคุยกันหน่อย”

ผมทรุดตัวเพื่อจะคลานไปเข้าเฝ้าใกล้ ๆ พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้องคลานแล้ว เดินมาเลยมานั่งเก้าอี้ใกล้ๆ อยากคุยด้วยมานานแล้ว” หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้อธิบายความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีความสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับครอบครัวอย่างไร และทรงแนะนำให้ผมไปทำการทดลองตามหลัก “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งผมก็ได้ทำสนองพระเดชพระคุณจนถึงปัจจุบันที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

(5) เมื่อรัชกาลที่ 10 สมัยทรงดำรงตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้รัฐมนตรี 3 คนเข้าเฝ้าที่พระราชวังสนามบินน้ำ 3 คนที่ว่าก็คือ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รมว. มหาดไทย นายธานินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว. คลัง และผมในฐานะ รมว. อุตสาหกรรม พวกเราแต่งชุดปกติขาว นั่งเรียงกันหน้าพระที่นั่ง โดยผมนั่งกลาง พลตรีสนั่น นั่งซ้ายมือ ท่านธานินทร์นั่งทางขวามือ เมื่อพระองค์เสด็จมา พวกเราก็ก้มลงกราบตามจารีตประเพณีแต่พระองค์กลับทรงนั่งพับเพียบตรงหน้าของผม ผมกราบทูลว่า พระองค์ควรจะขึ้นไปประทับบนบัลลังก์ พระองค์กลับตรัสว่า “ไม่เอา ก็ทั้งสามเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ไม่อยากนั่งสูงกว่า นั่งคุยกันอย่างนี่แหละดีแล้ว”

ผมจึงไม่เคยรู้สึกประหลาดใจมากนักเมื่อได้เห็นพระองค์และพระราชินีทรงเป็นกันเองกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้าในปัจจุบันและเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นพระมหากษัตริย์ของไทยทรงรับไหว้คนแก่ที่ถวายบังคมและอวยพรแก่พระองค์ และยังได้รับทราบเรื่องคำสั่งให้มีการลดการปิดการจราจรสำหรับบุคคลในสถาบันกษัตริย์เมื่อต้องเสด็จไปในที่ต่าง ๆ เรียกได้ว่าระยะห่างยิ่งแคบลงมามากในรัชกาลปัจจุบัน มิใยต้องพูดถึงการทรงบริจาคทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวนมากเพื่อความผาสุกของประชาชนที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก

ขอบคุณที่มา : ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี