กรรมาธิการพาณิชย์ฯ,มูลนิธิผู้บริโภค และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้ติดตามความคืบหน้ากับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีเครือบริษีทซีพีซื้อกิจการเทสโก้โลตัส เข้าข่ายผู้ขาดอำนาจเหนือตลาดค้าปลีก ซึ่งขณะนี้รอเอกสารจากซีพี และจะพิจารณาภายใน 90 วันให้แล้วเสร็จ ทางคณะกมธ.พาณิชย์ไม่รอตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เกาะติดข้อเท็จจริงเพื่อมาเสนอประกอบภายใน 1 สัปดาห์
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจากนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง แนวโน้มการผูกขาดในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้ กมธ.พิจารณา เนื่องจากกรณีการเข้าซื้อเทสโก้โลตัสประเทศไทยและมาเลเซียของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาจก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงไปยังผู้บริโภคที่ต้องรับภาระในราคาสินค้าที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจถูกบีบบังคับหรือกดดันให้ออกจากตลาด ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการผูกขาดโดยตรงคือประชาชนผู้บริโภค และผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภคจะเหลือทางเลือกน้อยและอาจทำให้ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น
ปัจจุบ้นกมธ.พาณิชย์ฯได้แต่งตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูล ศึกษาผลกระทบที่เป็นจริงใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ขณะเดียวกันมูลนิธิผู้บริโภคได้เสนอถึงความกังวลต่อกรณีนี้ใน 4 ประการได้แก่ 1.ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพงขึ้น คุณภาพลดลง 2.ภาคเกษตรจะเข้าถึงตลาดได้ยากกว่าเดิมถ้ามีผู้มีอำนาจเหนือตลาดคุมห่วงโซ่การผลิตตลอดทั้งสาย 3.เอสเอ็มอีจะเข้าถึงช่องทางการตลาดได้ยากขึ้น 4. การแข่งขันทางการค้าจะถูกขาดโดยผู้มีอำนาจเหนือตลาด
กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าสะดวกซื้อ “ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น” ดำเนินการโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 11,700 สาขา ในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจค้าส่งอย่างห้างแม็คโครอีก 137 สาขา ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ราว 38% จะเข้าลงทุนทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย
มูลค่าการซื้อขายคือ 338,445 ล้านบาท โดย 3 บริษัทฯถือหุ้น ได้แก่ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้งจำกัด 40% บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) CP ALL 40% และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CPF 20%
เจาะส่วนแบ่งตลาดโมเดิร์นเทรดในไทย มีแมคโคร 37.4%, เทสโก้โลตัส 38.4% และบิ๊กซี 24.2%เมิ่อซีพีคว้าเทสโก้โลตัสมาอยู่ในกำมือ ก็เท่ากับมีส่วนแบ่งในตลาดเกิน 75% ในความเข้าใจของคนทั่วไปก็ถือว่าเป็นการผูกขาดตลาดอยู่แล้ว แต่ในทางกฎหมายคงต้องรอผลจากคณะกรรมาธิการพาณิชย์ และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่าจะสรุปผลการพิจารนณาว่าอย่างไร
กขค. ได้ชี้แจงว่า การซื้อขายกิจการ “Tesco Lotus”ในประเทศไทย เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กําหนดแนวปฎิบัติการรวมธุรกิจไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย
แนวทางแรก พิจารณาโครงสร้างธุรกิจว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ โดยมี 2 เงื่อนไขหลักคือ ยอดรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ถ้าเข้าเงื่อนไขเหล่านี้จะถือว่าเป็น “ผู้ที่อำนาจเหนือตลาด”
แนวทางที่สอง เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ ก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยยะสําคัญหรือไม่
แนวทางที่สาม การควบรวมกิจการดังกล่าว จะมีผลกระทบ ต่อโครงสร้างตลาดการแข่งขันอย่างไร ผู้บริโภคและซัพพลายเออร์จะได้ผลกระทบอย่างไร
ในการนี้ทางซีพีได้ยืนหนังสือเสนอซื้อกิจการเทสโก้โลตัสเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาแก่ กขค.แล้ว แต่เอกสารยังไม่ครบถ้วน และทาง กขค.ได้แจ้งให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อซีพีส่งเอกมาอีกครี้ง และจะพิจารณาภายใน 90 วันหลังจากรับเอกสาร
การที่ซีพีเป็นผู้ชนะการประมูลดีลเทสโก้ โลตัส ย่อมเกิดผลประโยชน์เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตน เป้าหมายคงไม่ใช่แค่การเพิ่มยอดขาย แต่เป็นการจงใจสร้างอาณาจักรแห่งการผูกขาดหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดค้าปลีกเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และแน่นอนต้องกระทบกับผู้บริโภคและซัพพลายเออร์ให้อ่อนแอลง ศึกครั้งนี้เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่าจะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นเพียงเสือกระดาษ