เปิดอีกด้านซึ้ง พฤติกรรมคนไทยช่วงโควิดระบาด เกื้อกูลเพื่อนมนุษย์แม้ต่างเชื้อชาติกัน

2448

จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ โดยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ต่างออกมาย้ำเตือนกับประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เพื่อตนเองและคนรอบข้างจะได้ปลอดภัย ยอดผู้ติดเชื้อจะได้ไม่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจาการตรวจพบหญิงไทยเจ้าของแพปลา ในตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร วัย 67 ปี ติดเชื้อโควิด ซึ่งเมื่อมีการขยายผลตรวจเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยง จนพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และขยายผลไปถึงกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ที่เดินทางมาที่จังหวัดสมุทรสาครในช่วงเวลาดังกล่าว ผลปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้ออีกหลายจังหวัด

จากประเด็นดังกล่าวนี้เอง ทำให้มีดราม่าตามมเรื่องที่แรงงานชาวเมียนมาเกิดความกลัวว่า คนไทยนั้นจะรังเกียจพวกเขาที่เข้ามาทำงานในประเทศ และมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาการแพร่ระบาดในครั้งนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : พี่ดี้ แชร์เรื่องจุกอกแรงงานพม่า กลัวคนไทยรังเกียจแพร่เชื้อ หมอทวีศิลป์ย้ำยามเจ็บป่วยเอื้ออาทรดูแล

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีดราม่าเรื่องแรงงานเมียนมา แต่ทว่าล่าสุดในโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กขื่อ ฉัจธมน สิงห์ตาลกง ที่โพสต์ข้อความว่า ประกาศ!!! แรงงานประเทศเมียนมา ที่อาศัย ในเขตพื้นที่ ถนนวัดอู่สร้าง – ประชาอุทิศ ที่ไม่มีเงินซื้ออาหาร หรือ ไม่มีร้านอาหารขายให้ สามารถมาที่ร้านครัวเมืองเพชร ซึ่งเป็นร้านอาหารของเจ้าของเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า “ไม่มีเงิน เราให้กินฟรีค่ะ”

โดยจากโพสต์ดังกล่าวมีคนในโซเชียลเข้ามาแสดงความเห็นอย่างมากมาย พร้อมยังบอกว่า ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน สิ่งใดที่แบ่งปันเอื้อเฟื้อกันได้เราก็ควรทำ อีกทั้งบางคนยังแสดงความห่วงใยไปยังพี่น้องชาวเมียนมาในประเทศไทยว่า ไม่ต้องห่วงคุณป่วยที่บ้านเรา พวกเราไม่ทอดทิ้งแน่นอน

ขณะที่ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นางนงรัตน์ คงเกษม นายกเหล่ากาชาด จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นางณัฐิดา เจนนาวิน รองนายกเหล่ากาชาดฯ และกรรมการกาชาดสถานีกาชาดที่ 5 สวางคนิวาส นายอำเภอบางพลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางพลีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมอบถุงยังชีพชุดธารน้ำใจให้แรงงานต่างด้าวจากจ.สมุทรสาคร ที่นายจ้างนำมาปล่อยทิ้งไว้ที่ข้างถนนบางนา – ตราด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ขอเชิญชวนบริจาคเงิน เพื่อมอบชุดธารน้ำใจให้แก่ผู้กักกันตนทั่วประเทศ รวมทั้งเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่ขาดแคลน เพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดและเข้าสู่สถานการณ์ที่สงบโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามวันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.วันนี้ไม่ได้หารือถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศเหมือนกับที่เคยใช้มาในการระบาดรอบแรก

แต่ให้แบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ความรุนแรงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกเป็น 4 พื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการให้เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ โดยมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการตามกรอบที่ ศบค.กำหนด ได้แก่

1.พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีมากกว่า 1 พื้นที่ เช่น จ.สมุทรสาคร ซึ่งจะให้มีการจำกัดเวลาปิด-เปิดสถานประกอบการที่มีความจำเป็น, ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้า-ออกจากพื้นที่โดยเด็ดขาด, ควบคุมการเข้า-ออก ยานพาหนะและบุคคลคนไทย โดยไม่ให้กระทบการค้าและอุตสาหกรรมมากเกินจำเป็น, ให้จัดตั้งด่านตรวจคัดกรอง จุดสกัดและสายตรวจ เพื่อให้การควบคุมการเข้า-ออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, ใช้มาตรการเวิร์คฟอร์มโฮม อย่างเต็มขีดความสามารถ

2.พื้นที่สีส้ม เป็นพื้นที่ติดกับพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาทิ สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม กทม.(เฉพาะฝั่งตะวันตก) กำหนดให้หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากทุกรูปแบบ, สถานประกอบการและโรงงานที่ยังเปิดดำเนินการให้เน้นมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งในบริเวณโรงงานและที่พักคนงาน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ ศบค.กำหนด ให้พิจารณาหยุดดำเนินการ, เฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาในพื้นที่ของแรงงานต่างด้าวที่มีจากพื้นที่สีแดง

หากตรวจพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ, ให้พิจารณาจำกัดเวลาปิด-เปิดสถานประกอบการที่มีความจำเป็นตามความเหมาะสม, ให้พิจารณาปิดหรือจำกัดเวลาปิด-เปิดสถานกระกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้า-ออกจากพื้นที่, ให้ประสานจัดตั้งด่านคัดกรองกับจังหวัดพื้นที่สีแดงตามความเหมาะสม, ให้ใช้มาตรการเวิร์คฟอร์มโฮม สำหรับบุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดง ให้สถานศึกษาพิจารณาหยุดการเรียนการสอน หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์

3.พื้นที่สีเหลือง เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย และมีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์ได้ อาทิ สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต กำแพงเพชร ชัยนาท

4.พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่ามีจะมีเชื้อ ได้แก่ จังหวัดอื่นๆที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีผู้ติดเชื้อ