ไทยจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น 70กิจการปลอดโควิด ส่งออก 400 ล้านบาท ช่วยเศรษฐกิจปากท้องปชช.พ้นซบเซา!?!

1713

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขยับโครงการ “อินดัสตรีบับเบิล” เชื่อมอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ขื่อ “ทีกู๊ดเทค – เจกู๊ดเทค” คาดจับคู่ธุรกิจปลอดภัยไกลโควิด-19 ได้กว่า 70 กิจการ สร้างมูลค่าส่งออกสูงถึง 400 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า จากแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ในการจับคู่ธุรกิจกันระหว่างประเทศด้านอุตสาหกรรม เพื่อการเป็นคู่การค้าที่ปลอดภัยจากโควิด-19 หรือ โครงการอินดัสตรีบับเบิล (Industry bubble) ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เร่งดำเนินการ โดยหารือกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งญี่ปุ่น (Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation : SMRJ) โดยจับคู่อุตสาหกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเชื่อมเป็นอินดัสตรีบับเบิล ไทย-ญี่ปุ่น

นายณัฐพล กล่าวว่า อินดัสตรีบับเบิล ไทย-ญี่ปุ่น ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มทีกู๊ดเทค (T-GoodTech) แพลตฟอร์มที่มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนจับคู่ธุรกิจ ที่มีผู้ประกอบการไทยเป็นสมาชิกอยู่กว่า 4,000 กิจการ เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มเจกู๊ดเทค (J-GoodTech) แพลตฟอร์มเอสเอ็มอีรายใหญ่ที่มีฐานข้อมูลธุรกิจกว่า 20,000 กิจการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ อีกมายมายที่เข้ามาหาคู่ค้า ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการจับคู่ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละกิจการ

อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์กิจการให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจ ร่วมทั้งเป็นการเจรจาทางธุรกิจที่ปลอดภัย ปลอดโรค และมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสอ. สามารถสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการจับคู่อุตสาหกรรมได้กว่า 70 กิจการ และคิดเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านการส่งออก มูลค่า 400 ล้านบาท

แนวโน้มการเติบโตของระบบการค้าออนไลน์ในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2562 มีอัตราการเติบกว่า 8.71% ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ.2563 จะเติบโตกว่า35 % ดังนั้นการดำเนินการ อินดัสตรีบับเบิล ไทย-ญี่ปุ่น จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับ รูปแบบการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ทั้งยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมไทย เพื่อความพร้อมในการก้าวสู่ “ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก” ได้ในอนาคต

ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายในต่างประเทศทั่วโลก  แต่ไทยซึ่งจัดการรับมือไวรัส โควิด-19 ได้ดีมากจนเป็นที่ยอมรับ จึงเริ่มมีการเปิดดำเนินการทางธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การค้าขายการผลิตและการส่งออกเริ่มขยับ เนื่องจากที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตและการค้าชะงักงัน เพื่อคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ไม่ให้ซบเซามากกว่าที่เป็นอยู่  หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนได้พยายามหาช่องทางโอกาส  กระตุ้นการทำธุรกิจ การค้า การส่งออกอย่างเต็มที่

การเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำธุรกิจการค้า จึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจังื การใช้แพลตฟอร์ม ํTgoodtech และ Jgoodtech น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ “ปฏิวัติวิถี-Disruptions” ไปสู่มิติใหม่ในทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง