ไบเดนเหวอหนัก!!มาครงไม่รับสายคืนวันประกาศชัยต้องโทรกลับรุ่งขึ้น ขณะสหรัฐบีบฝรั่งเศส-เยอรมันส่งอาวุธยูเครน

1633

การต่อสายตรงของปธน.โจ ไบเดนถึงผู้นำฝรั่งเศสเพื่อแสดงความยินดีกับชัยชนะไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าตัว อ้างอยู่ในงานฉลองที่หอไอเฟล บ่งบอกสภาพความสัมพันธ์ของสองประเทศค่อนข้างชัดเจน แม้วันรุ่งขึ้นจะได้คุยก็เป็นไปอย่างเป็นทางการ กระนั้นในการเดินหน้าผลักดันสงครามในยูเครนโดยสหรัฐ ก็สามารถกดดันให้ฝรั่งเศสตอบรับส่งอาวุธให้ยูเครนตามคำสั่งวอชิงตัน พร้อมกับเยอรมนีและอังกฤษ เท่ากับลากยาวสงครามยูเครนต่อและอาจลามถึงแผ่นดินยุโรปด้วย

วันที่ 26 เม.ย.2565 สำนักข่าวฟอกซ์นิวส์และรัสเซียทูเดย์รายงานว่า คืนวันประกาศชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยที่ 2 ของเอ็มมานูเอล มาครงนั้น (Emmanuel Macron) ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯต่อสายตรงหาเพื่อแสดงความยินดีเป็นคนแรกแต่พลาดหวังเพราะมาครงไม่รับสาย  อดีตนั้นปธน.มาครง เป็นหนึ่งในผู้นำต่างชาติกลุ่มแรกที่แสดงความยินดีกับโจ ไบเดน กับชัยชนะของเขาเหนือโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้อยู่แถวๆ สถานที่จะรับสายเมื่อคู่หูสหรัฐฯ พยายามจะแสดงความยินดีหลังจากที่เขา ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ไบเดนบอกกับนักข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “ผมพยายามคุยกับเอ็มมานูเอล มาครงเมื่อคืนนี้”“แต่ได้คุยกับพนักงานของเขา ว่าเขาอยู่ที่หอไอเฟลด้วยความสนุกสนาน วันนี้ฉันจะไปคุยกับเขาใหม่”

คนอื่นๆโชคดีกว่าปธน.ไบเดน เนื่องจากปธน.เซเลนสกี แห่งยูเครนตลอดจนผู้นำนาโต้และสหภาพยุโรปได้แสดงความยินดีกับมาครงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผ่าน Twitter อย่างรวดเร็ว เมื่อมาครงชนะคู่ต่อสู้ของเขา มารีน เลอแพน ด้วยคะแนน 58.5% ต่อ 41.5%

ไบเดนได้เขียนลงบนทวิตเตอร์แทนเมื่อวันอาทิตย์“ ขอแสดงความยินดีกับเอ็มมานูเอล มาครงในการเลือกตั้งใหม่ของเขา” และกล่าวว่า “ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเราและเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก ฉันหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนยูเครน การปกป้องประชาธิปไตย และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียแสดงความยินดีกับมาครง โดยส่งโทรเลขว่า“ฉันขอให้คุณประสบความสำเร็จในกิจการของรัฐทุกประการ รวมทั้งมีสุขภาพที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่ดี”

ในที่สุด Biden และ Macron ก็ได้คุยกันทางโทรศัพท์ในวันจันทร์ ผู้นำทั้งสองไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมดในการตอบโต้ต่อการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย  

มาครงเรียกร้องให้มีการเจรจากับมอสโกว์เพื่อช่วยสร้างสันติภาพ และเขาได้เลือกที่จะไม่ติดตามสหรัฐฯและผู้นำนาโตคนอื่นๆ ในการตราหน้าปูตินว่าเป็น“อาชญากรสงคราม”และกล่าวหาว่ากองกำลังรัสเซียทำ “การล้างเผ่าพันธุ์” อันที่จริงแล้ว เขาแนะนำเมื่อต้นเดือนนี้ว่าสำนวนโวหารดังกล่าวไม่เอื้อต่อการยุติความขัดแย้ง สร้างสันติภาพในยูเครนแต่อย่างใด ผู้นำควรระมัดระวังคำพูด

ผู้นำทั้งสองยังปะทะกันหนักเมื่อปีที่แล้ว เช่นกรณีอาฟกานิสถาน มาครงตำหนิไบเดนว่า “ละทิ้ง”  พันธมิตรที่สนับสนุนตะวันตกในอัฟกานิสถาน และโต้แย้งว่าประเทศต่างๆ ควรมี”ความรับผิดชอบทางศีลธรรม”ต่อชาวอัฟกัน ต่อมาในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ฝ่ายบริหารของมาครง เรียกคืนเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันกลับประเทศ เพราะวอชิงตันร่วมมือกับสหราชอาณาจักร แทงหลังฝรั่งเศส โดยเกลี้ยกล่อมออสเตรเลียให้ยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสและซื้อเรือของพวกเขาแทน เจ็บนี้น่ายังฝังใจไม่ลืม

ล่าสุดสหรัฐยังคงเดินหน้าบีบพันธมิตรส่งอาวุธให้ยูเครนต่อ โดยลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเชิญรัฐมนตรีกลาโหมชาติพันธมิตรกว่า 40 ประเทศประชุมที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ในเยอรมนี เพื่อหารือส่งอาวุธหนักเพิ่มให้กองทัพยูเครน ด้านรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี เผยเตรียมส่งรถถังที่ปลดประจำการให้ ขณะที่ฝรั่งเศสจะส่งปืนใหญ่และอังกฤษส่งมิสไซล์ช่วยกองทัพยูเครน    

คริสติน แลมเบรชท์ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี (Christine Lambrecht)ในที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมกว่า 40 ชาติ ที่จัดประชุมฉุกเฉินตามคำเชิญของลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ของสหรัฐ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีในวันเดียวกัน

แลมเบรชท์ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีอนุมัติให้ส่งรถถังเกพาร์ด ซึ่งเป็นรถถังต่อต้านอากาศยานที่กองทัพเยอรมันเคยใช้งานแล้วให้กับกองทัพยูเครน แหล่งข่าวของรัฐบาลเยอรมันเผยว่า รถถังที่จะส่งมอบนี้ไม่ได้นำมาจากกองทัพเยอรมนี แต่อยู่ในคลังเก็บของ Krauss-Maffei Wegmann (KMW) บริษัทผลิตอาวุธของเยอรมนี รถถังเหล่านี้ปลดประจำการเมื่อ 10 ปีก่อน จำเป็นต้องมีการอัปเกรดทางเทคนิคก่อนที่จะส่งให้ยูเครน ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ สนับสนุนอาวุธให้ยูเครน ได้แก่ ติดตั้งระบบต่อสู้อากาศยานที่กรุงเคียฟ อาวุธต่อต้านอาวุธต่อสู้รถถังแบบสะพายไหล่ และรถยนต์หุ้มเกราะ

ดูเหมือนว่าแม้พันธมิตรสหรัฐฯอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส จะไม่ค่อยเต็มใจทำตามข้อเรียกร้องของวอชิงตันเท่าใดนัก  แต่ก็ยังคงต้องร่วมมืออย่างเสียไม่ได้ต่อไป ท่ามกลางเค้าลางสงครามใหญ่จะขยายวงสู่แผ่นดินยุโรป ตามความประสงค์ของสหรัฐ ใกล้เป็นจริงเข้ามาทุกที ต้องจับตาว่าใครจะสามารถเหนี่ยวรั้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุโรปพังทลายด้วยน้ำมือของตัวเอง???