500โรงไฟฟ้าชุมชน!? รอรมต.พลังงานใหม่ชี้อนาคตหวั่นฝันสลาย ขอรัฐบาลสานต่อ ชาวบ้านได้พึ่งตนเอง

2191

โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นความหวังหนึ่งของรัฐวิสาหกิจชุมชน ที่จะได้เป็นเจ้าของ กิจการพลังงานในท้องถิ่นแก้ปัญหาขาดแคลน ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เมื่อรัฐเชิญชวน ชาวบ้านแห่กันไปจดทะเบียนถึง 500 แห่ง การเปลี่ยนตัวรมต.พลังงาน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าสิ่งที่เตรียมมาตลอด 1 ปีจะต้องล่มสลาย  กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน 10 แห่งได้ออกหน้าเป็น ตัวแทนโรงไฟฟ้าชุมชน 500 แห่งยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสานต่อตามแผนเดิม ส่งสัญญาณถึงรมต.พลังงานคนใหม่ในทันที

ความเป็นมาที่ภาครัฐสร้างฝันให้ชุมชนมีไฟฟ้าใช้ด้วยตนเอง

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) เป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ผลักดันมาข้ามปี ล่าช้ามาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ต้องใช้เวลาทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนให้ชัดเจน  รวมทั้งต้องรอแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ที่บรรจุการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาในระบบปี 2563–2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์

แผน PDP ดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 19 มี.ค.2563 และกพช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่ได้เสนอเข้าครม.และยังไม่ได้รับไฟเขียว  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงยังไม่สามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เรื่องค้างเติ่งมาจนเปลี่ยนรมต.เศรษฐกิจ

โครงการนี้ จะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 4 ประเภท คือ 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 4.เชื้อเพลิงไฮบริดจาก 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อคัดเลือกโครงการและกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดให้ยื่นเสนอโครงการ

ปี 2563-2565 จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ประเภทโครงการ คือ 

1.โครงการ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ

2.โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วน 60–90% 

2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วน 10–40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้า

กระทรวงพลังงานได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนพลังงานสร้างไทย” ปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์แรก เดิมคาดว่าประกาศรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการประเภทเร่งด่วน (Quick Win ) 100 เมกะวัตต์ เดือน ก.ค. และประกาศรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือน ส.ค.2563 

และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เดือน พ.ย.-ธ.ค.2563 เริ่มลงทุนได้ต้นปี 2564 คาดว่าใช้เงินลงทุนรวม 1,721 ล้านบาท เกิดการจ้างงงาน 720 คน สร้างรายได้ 224 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,440 คน หรือคาดหวังจะเกิดเม็ดเงินลงทุน 30-40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

และส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อย และชาวบ้านสนใจ พากันตั้งบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1/2563 น่าจะมีผู้ประกอบการใหม่ไม่ต่ำกว่า 500 ราย ที่จดทะเบียนขึ้นใหม่

ฝันสลาย-จดทะเบียนรอเก้อ ยื่นข้อเรียกร้องขอรัฐบาลสานต่ออย่าทอดทิ้ง

เมื่อรมต.คนเก่าลาออก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเลยเคว้งและกังวลความไม่แน่นอน ในที่สุดกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10 จังหวัดได้เข้ามายื่นหนังสือถึงรองนายกฯวิษณุ เครืองาม รักษาการรมต.กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องขอให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ เพื่อช่วยชาวบ้านสร้างงานสร้างรายได้

ในการนี้เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จากจังหวัดอุดรธานี-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-จันทบุรี  นำโดย นางสาววลัญช์รัช พรกิจจานนท์ ประธานเครือข่ายฯ พร้อมด้วยหัวหน้าชุดประสานงาน ได้แก่ นายอดิเรก วายุโชติ นายศักดินา นักรำ นายจีรพัตร์ ธาตุตระกูลวงค์ นายภัคพิสิฐ บุญเรือง นายอนันต์ชัย มหาสวัสดิ์ และนายจักรพงษ์ ขันตี ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรองนายกวิษณุฯหวังเร่งสานต่อให้เป็นรูปธรรม ได้แก่

1) ขอให้นำแผน PDP 2018 Rev.1 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้เร็วที่สุด

2) สั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศให้มีการยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน โครงการ Quick Win 100 MW กับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไปที่เหลืออีก 600 MW ตามขั้นตอนต่อไปโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 10 แห่งอยากมีส่วนร่วมในโครงการและเป็นหุ้นส่วนโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการปลูกและจำหน่ายพืชเศรษฐกิจที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ทั้ง 500 แห่ง กำลังจับตาว่าที่ รมว.พลังงานคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจาปรับแผนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป และโครงการอาจจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ แม้ว่ากำลังผลิตใหม่ 1,933 MW ได้ถูกระบุไว้ใน 5 ปีแรกของแผน PDP 2018 Rev.1 แล้ว แต่ถ้ารัฐมนตรีคนใหม่ไม่พิจารณาโครงการนี้อาจจะต้องรื้อแผน PDP ใหม่อีกครั้ง 

………………………………………………………