ส.ว.คำนูณ ชำแหละ 15 ข้อร่างแก้ รธน.ฉบับ “ไอติม-ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ถึงกับอึ้ง มุ่งล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ทั้งระบบ

2093

สั้นๆเข้าใจง่าย! ส.ว.คำนูณ ชำแหละ 15 ข้อร่างแก้ รธน.ฉบับ “ไอติม-ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ถึงกับอึ้ง มุ่งล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ทั้งระบบ?

ล่าสุดในวันที่ 14 พ.ย.64 ทางด้านของ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อเรื่อง ‘ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง’ ระบบตรวจสอบถ่วงดุล โดยมีเนื้อหาระบุว่า 15 ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชน 135,247 คนเข้าชื่อเสนอ

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวม 135,247 คน เข้าชื่อกันเสนอต่อประธานรัฐสภา และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร

จัดร่างและดำเนินการโดยกลุ่มรี-โซลูชัน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 4 องค์กร คือ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, กลุ่มไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน), คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล

ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.

พิจารณาทบทวนแล้วพบว่ามีข้อเท็จจริงพอสรุปได้ 15 ประการดังนี้

หนึ่ง – รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฏร โดยโอนอำนาจของรัฐสภามาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะผู้ตรวจการ 3 ชุด คือ คณะผู้ตรวจการกองทัพ, คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ แต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน

หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 121, มาตรา 122, มาตรา 123), มาตรา 6

สอง – ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองการรัฐประหาร และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนในการบริหารงานภายในของศาล โดยให้คัดเลือกกันเอง 1 คนเข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอีก 1 คนเข้าไปเป็นกรรมตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) รวมทั้งการกำหนดให้คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพของคำพิพากษา และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ

หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 121(4) มาตรา 121 วรรคสาม) มาตรา 11 (มาตรา 215) มาตรา 21 (มาตรา 259)

สาม – ลดทอนความเป็นอิสระขององค์กรอิสระทุกองค์กร โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเข้ามามีส่วนร่วมทำนองเดียวกันกับศาล

หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 123)

สี่ – กำกับควบคุมกองทัพโดยตรง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คนในนามของคณะผู้ตรวจการกองทัพ เข้าไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง

หมายเหตุ – มาตรา 4 (มาตรา 121)

ห้า – บัญญัติกระบวนการถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขึ้นมาใหม่ในบททั่วไปของศาล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง และให้มีองค์คณะพิจารณาถอดถอนจำนวน 7 คนเป็นองค์คณะพิจารณาถอดถอน โดยในองค์คณะนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงข้างมากในองค์คณะ (4 ใน 7) มติถอดถอนใช้เสียงข้างมากขององค์คณะฯ

หมายเหตุ : มาตรา 10 (มาตรา 193/1, มาตรา 193/2)

หก – บัญญัติกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นองค์กรตัดสิน และยังมีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/10 เข้าชื่อกันขอให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีที่พบว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตัดสิน

หมายเหตุ : มาตรา 13 (มาตรา 247/28 มาตรา 247/29 มาตรา 247/30 มาตรา 247/31)

เจ็ด – ยกเลิกวุฒิสภาเป็นการถาวร ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันที รวมถึงการยกเลิกสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยโอนบุคคลรกรอำนาจและหน้าที่ไปให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร
หมายเหตุ : มาตรา 8, มาตรา 22

แปด – Set zero ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 สิ้นผลใช้บังคับ ให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่างขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ และให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทุกองค์กรใหม่โดยสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ที่ปรับโครงสร้างที่มาและกระบวนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใหม่หมด

ทั้งนี้ มีสาระสำคัญว่าในโครงสร้างใหม่สัดส่วนผู้ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นเสียงข้างมากในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกแห่ง (4 ใน 7 และ 6 ใน 9) รวมทั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระทุกองค์กรในปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทันที ให้เลือกใหม่ภายใน 30 วัน

อนึ่ง ห้ามบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์การใด ๆ ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2549 หรือประกาศ/คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ และรัฐธรรมนูญ 2557 หรือประกาศ/คำสั่งคสช. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตลอดไป โดยบัญญัติไว้เป็นลักษณะต้องห้ามในมาตรา 11 มาตราย่อยที่มาตรา 203(2)
หมายเหตุ : มาตรา 11, มาตรา 12, มาตรา 13, มาตรา 14, มาตรา 15, มาตรา 16, มาตรา 17, มาตรา 18)

เก้า – ยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการถาวร โดยโอนอำนาจที่มีให้ไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
หมายเหตุ – มาตรา 17

สิบ – ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA (Mixed Member Apportionment System) บัตรใบเดียว 350 : 150 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดั้งเดิมก่อนการแก้ไขครั้งล่าสุด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงบังคับผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 79 – 87)

สิบเอ็ด – นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงระบบให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองไม่เกิน 3 รายชื่อในวันสมัครรับเลือกตั้งไว้เหมือนเดิม
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 84), มาตรา 9 (มาตรา 159 วรรคแรก)

สิบสอง – ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ/การปฏิรูปประเทศ
หมายเหตุ : มาตรา 4 (มาตรา 129), มาตรา 20

สิบสาม – ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคสช. และการกระทำที่สืบเนื่อง รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช.
หมายเหตุ : มาตรา 21 (มาตรา 257), มาตรา 23

สิบสี่ – สร้างระบบต่อต้านการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานรัฐประหารไม่มีอายุความ และสามารถเอาผิดย้อนหลังได้
หมายเหตุ : มาตรา 21 (มาตรา 257, มาตรา 258, มาตรา 259, มาตรา 260 และมาตรา 261)

สิบห้า – แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ไม่มีเงื่อนไขเสียง 1/3 ของสมาชิดวุฒิสภา หรือเสียง 20 % ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน โดยกำหนดใหม่ให้ใช้เสียง 2/3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
หมายเหตุ : มาตรา 13 (มาตรา 256)

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ พอจะบอกเล่า ‘ภาพรวม’ ของการแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ว่าเป็นการ ‘ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง’ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลทั้งปวง ?
สาธุชนพึงพิจารณาเถิด