เปิดความจริง ทรัมป์ สั่งด่วนตัดจีเอสพีสินค้าไทย มีผล 30 ธ.ค. เหตุบังคับนำเข้าเนื้อหมู เลี้ยงด้วยสารอันตราย

4203

จากที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ เปิดเผยในวันศุกร์ (30 ต.ค.) ว่า สหรัฐจะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าบางรายการของประเทศไทยภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สหรัฐฯตัดจีเอสพีสินค้าไทย!?! กระทบส่งออกมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท เหตุไม่เปิดตลาดเสรีเนื้อหมูเข้าไทย

โดยข้อความที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุในจดหมายส่งถึงรัฐสภาสหรัฐระบุว่า “ผมพิจารณาแล้วพบว่าไทยไม่ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐว่าไทยจะเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าถึงตลาดของไทยได้อย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล ด้วยเหตุนี้ผมจึงพิจารณาแล้วว่า เป็นการเหมาะสมที่สหรัฐจะระงับ GSP สำหรับสินค้าของประเทศไทย

ขณะที่สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เปิดเผยว่า ระบบจีเอสพี ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยอนุญาตให้มีการส่งสินค้าปลอดภาษี 3,500 รายการจากประเทศและเขตแดนกว่า 100 แห่งไปยังสหรัฐ โดยไทยและสหรัฐเจรจากันมากว่า 2 ปีแล้วเกี่ยวกับประเด็นการเปิดตลาดไทยให้กับสินค้าของสหรัฐ รวมถึงประเด็นการปกป้องสิทธิแรงงานในประเทศไทย

ทั้งนี้ สหรัฐจะตัดจีเอสพีสินค้าไทยมูลค่ารวม 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงหอยบางชนิด, มะม่วง, ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

ล่าสุด นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้นัดหมายชี้แจงด่วน กรณีดังกล่าว โดยระบุประเด็นว่า กรณีปธน.ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศระงับ GSP สินค้าไทย 200 รายการ ในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 นี้ เป็นผลจากการที่ประเทศไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมู และเครื่องในจากสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนในการเลี้ยงให้กับสหรัฐ

ก่อนหน้านั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำเสนอรายงาน เรื่อง “จะรับได้ไหม ถ้าไทยยอมให้เนื้อหมูเร่งเนื้อแดงเข้ามาขายในประเทศ?” โดยมีสาระสำคัญว่าด้วยอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐ ระบุใจความบางส่วนว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แสดงความพยายามหลายต่อหลายครั้งให้รัฐบาลไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯ ผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับการเปิดเสรีตลาดเนื้อสุกรของไทยลงไปได้บ้าง”

จนกระทั่งล่าสุดการเคลื่อนไหวของผู้นำสหรัฐได้เริ่มต้นอีกครั้ง เพื่อแสดงปฏิกิริยาทางการเมือง ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ในอีกไม่กี่วันนี้

ขณะเดียวกันในรายงานชิ้นดังกล่าว ระบุด้วยว่า “แรคโตพามีน” เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) หรือเรียกกันว่า “สารเร่งเนื้อแดง” แต่เดิมเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดในคนและสัตว์ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หอบหืด ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และเป็นยายับยั้งการหดตัวของมดลูกในสัตว์ ต่อมามีการวิจัยและพัฒนามาใช้เร่งการเจริญเติบโตในสัตว์เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อหลายชนิดรวมทั้งสุกร โดยแรคโตพามีนมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันและสร้างโปรตีนให้เพิ่มขึ้น

สุกรที่ได้รับแรคโตพามีนในอาหารจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 60 กิโลกรัมเป็น 100 กิโลกรัมได้เร็วกว่าสุกรทั่วไป 4 วัน ในขณะที่ต้องการอาหารน้อยกว่า 18.5 กิโลกรัม และมีน้ำหนักซากที่ชำแหละสูงกว่าถึง 4.5 กิโลกรัม จึงมีการนำสารในกลุ่มนี้มาใช้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบเนื้อแดงไขมันน้อย

แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว แรคโตพามีนจะไม่สลายหายไปไหน มันสามารถตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้และมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนในการประกอบอาหาร

ประการสำคัญข้อมูลทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นต้น โดยจะมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดลม และกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการทางจิตประสาทได้

และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2563 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้เคยออกมาพูดถึงปัญหากรณีที่สหรัฐฯ เตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยกว่า 500 รายการว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมฯ ได้ส่งแบบสอบถามไปยังภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ช่วยสอบถามสมาชิกว่าสมาชิกซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าใดที่คาดจะได้รับผลกระทบบ้าง และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้การช่วยเหลือถูกจุด และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบมากที่สุด เพราะการถูกตัดจีเอสพีทำให้สหรัฐฯ กลับมาเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราภาษีปกติ หรือเฉลี่ยจะถูกเก็บภาษีที่ 4-5% จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือเสียในอัตราต่ำกว่าปกติ

โดยกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการบางส่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบอยู่แล้ว เช่น การเดินหน้าหาตลาดใหม่สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ จะตัดจีเอสพี การให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่าง ๆ ของไทย ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอเพื่อสร้างแต้มต่อเหนือประเทศคู่แข่งที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอ เป็นต้น ด้วยปัญหาจากการที่ไทยตัดสินใจไม่ยอมให้มีการนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในจากสหรัฐ เพราะหวั่นเกรงการบริโภคหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง ตามปริมาณที่โครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเดกซ์) กำหนดว่าอาจเป็นอันตาย