สหรัฐอเมริกาขาดดุลกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายสู้โควิดมีจำนวนมหาศาล ขณะการใช้จ่ายทั้งหมดของสหรัฐในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 6.55 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 47% จากปีก่อนหน้า รายได้มีแค่ 3.42 ล้านล้านดอลลาร์เหตุธุรกิจชะงักงันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้พยายามเปิดเมืองเพื่อดำเนินธุรกิจ ก็ไม่สามารถกระตุ้นการฟื้นตัวได้ตามคาด และอาจเป็นเหตุซ้ำเติมให้โควิดระลอกใหม่กระหน่ำอีกระลอก ขณะที่ไอเอ็มเอฟและเฟดออกมาตรการการเงินมาหนุนช่วยก็ไม่เป็นผล น่าสังเกตว่าที่สองพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องงบฯฟื้นฟูรอบสอง แค่เห็นต่างจำนวนเงินเท่านั้นจริงหรือ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่รวยที่สุดในโลกและสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้เท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องมีทองคำสำรอง
กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์(16 ต.ค.2563) ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่า 3 เท่า แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.13 ล้านล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2563 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การใช้จ่ายทั้งหมดของสหรัฐในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 6.55 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 47% จากปีก่อนหน้า ขณะที่รายได้รวมของสหรัฐอยู่ที่ 3.42 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงราว 1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าคาดทั้งจากภาษีเงินได้ส่วนบุคคล, ภาษีนิติบุคคล และภาษีศุลกากร ทั้งนี้ ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้ว และมีขนาดมากกว่าสองเท่าของยอดขาดดุลที่ทำสถิติสูงสุดครั้งก่อนในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก
กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ยอดขาดดุลงบประมาณปี 2563 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งแรกในเดือนก.พ.อยู่ราว 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และนำไปสู่การชัตดาวน์เศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงานหลายล้านคน
ไอเอ็มเอฟยังเชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการรอบ2 ได้
นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า สหรัฐจะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจโลก
นางจอร์จีวา กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลบวกที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจโลก และหากมีการออกมาตรการได้เร็วกว่านี้ ก็จะช่วยทำให้เกิดความแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นท่ามกลางวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยังกล่าวว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนโยบายการคลังของรัฐบาลสหรัฐ เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐ และจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าหากมีการใช้ควบคู่กันในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% และซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนั้น ส่วนทางรัฐบาลสหรัฐก็ได้ใช้นโยบายทางการคลังในการออกมาตรการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์
เดโมแครตและรีพับลิกันตกลงกันไม่ได้เพราะกระเป๋าฉีกรึเปล่า?
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองของรัฐบาลสหรัฐยังคงประสบภาวะชะงักงัน นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเขาเห็นว่าวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์มีความเหมาะสมต่อการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาให้การสนับสนุนมาตรการวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์ โดยเห็นว่าเป็นวงเงินที่เหมาะสม” นายแมคคอนเนลล์กล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะยื่นข้อเสนอใหม่ โดยจะเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงกว่าระดับ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เพื่อให้ทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงกับนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ขณะที่พรรคเดโมแครตเสนอวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์
และทุกอย่างก็เงียบหาย ล่าสุดนายสตีเวน มนูชินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐบอกเองว่า ยากจะเจรจาสำเร็จก่อนเลือกตั้ง