สื่อสหรัฐฯเย้ยไบเดน!?’เผลอ’งีบหลับ แซะประชุมแก้โลกร้อนแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 13,000 ตัน

1226

การประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP: COP 26) ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย.2564  ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร 

การประชุมเปิดฉากขึ้นอย่างเผ็ดร้อน เมื่อประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ หรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถูกตราหน้าว่าไม่เคยยอมทำตามสิ่งที่เคยรับปากไว้อย่างไร มาวันนี้ก็เหมือนเดิม  แต่ก็มีเรื่องที่ ฮือฮาในหมู่สื่อมวลชนสหรัฐเกี่ยวกับประธานาธิบดีของพวกเขา เมื่อโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ถูกสื่อมวลชนจับภาพได้ขณะนั่งนิ่งหลับตา ก่อนหน้าขึ้นปราศรัยกับนานาชาติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(1พ.ย.) จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินมาหาจึงลืมตาขึ้นมา ดูเหมือนเผลองีบหลับระหว่างพิธีกล่าวเปิดงาน

ที่แสบหนักก็เห็นจะเป็นสื่ออังกฤษแฉว่าชนชั้นนำระดับโลกใช้เครื่องบินส่วนตัวไปร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP26 นั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่าที่พลเมืองหลายร้อยคนจะทำได้ในหนึ่งปีเสียอีก มาประชุมกันเรื่องลดก๊าซที่ทำให้โลกร้อน แต่สร้างมลพิษซะเองมหาศาลกว่า 13,000 ตัน

Sunday Mail ของอังกฤษ เปิดเผยว่า เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมากกว่า 400 ลำที่บรรทุกนักการเมืองและผู้บริหารธุรกิจเข้าร่วมการประชุมในสัปดาห์นี้ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 13,000 ตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1,600 ลำตลอดทั้งปี 

เรื่องเสียหน้าของสื่ออเมริกันแพร่เร็วในโซเชียลมีเดีย ต่างวิจารณ์ว่าปธน.ไบเดน มีท่าทางเหมือนคนงีบหลับระหว่างรับฟังคำปราศรัยของ เอ็ดดี เอ็นโดปู นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้พิการ ที่กล่าวเตือนว่าภาวะโลกร้อนได้คุกคามศักยภาพการปลูกอาหารหรือแม้กระทั่งการอยู่รอดของมนุษย์

ผู้นำสหรัฐฯหลับตานานขึ้นระหว่างที่ เอ็นโดปู พูดเรียกร้องขอคำมั่นสัญญาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับหยุดการทำลายล้างโลกอันงดงามใบนี้ “การประชุมนี้คือหนึ่งในการประชุมครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์” เอ็มโดปู กล่าวต่อในขณะที่ ไบเดน ยังคงหลับตา

แซค บราวน์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เขียนบนทวิตเตอร์พร้อมกับโพสต์คลิปวิดีโอของเหตุการณ์ ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่งกว้างขวาง “ดูเหมือน ไบเดน จะงีบหลับระหว่างพิธีกล่าวเปิดงานการประชุมซัมมิต COP26”

เคลลี โอ ดอนเนลล์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวซ์ กล่าวกับเอ็มเอสเอ็นบีซี หลังจากเกิดเหตุว่า “ดูเหมือนว่าบางทีเขากำลังงีบหลับ”

เมื่อไบเดนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ใช้เวลาเกือบ 12 นาทีเรียกร้องบรรดาประเทศต่างๆทั่วโลกลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

ไบเดนกล่าวว่า “ในพวกเรา มีผู้อยู่เบื้องหลังการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่ และทุกปัญหาที่เรามีจนถึงตอนนี้ เป็นภาระหน้าที่ของประเทศต่างๆ ที่ในข้อเท็จจริงไม่ได้อยู่ที่นี่ พวกเขาไม่ยอมทำมัน” ถึงแม้ไม่เอ่ยชื่อประเทศแต่ใครๆต่างก็รับรู้ได้ว่าไบเดนตั้งใจแซะจีนและรัสเซียซึ่งไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ อ้างการระบาดหนักของโควิด-19  แต่ไบเดนคงลืมไปว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบมหาศาลและเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาที่ ผลักการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยคาร์บอนไปยังประเทศกำลังพัฒนาด้วย

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะเจ้าภาพจัด การประชุม COP26 กล่าวในพิธีเปิดประชุมวันที่ 31 ต.ค.2564 ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็น “วาระแห่งความเป็นจริงของโลก” ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ประชากรรุ่นต่อไป ก็จะได้รับผลกระทบที่จะตามมา

งานนี้มีผู้แทนจากเกือบๆ 200 ประเทศเข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งประกาศนโยบายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปีค.ศ.2050หรือพ.ศ. 2593 ขณะที่นายกรัฐมนตรีฯของไทย พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยไปแล้ว โดยกำหนดลดเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2065

นางคริสตินา ฟิกัวเรส อดีตเลขานุการโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ คาดว่าการประชุมในกลาสโกว์จะไม่มีความคืบหน้าชัดเจนเท่ากับการประชุมในฝรั่งเศสเมื่อปี 2015/2558 ซึ่งนำไปสู่การบรรลุความตกลงปารีส

เพราะเห็นแนวโน้มจากการที่บรรดาชาติผู้นำมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ G-20 ซึ่งจัดไปก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค.2564 ไม่แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนรุนแรงในกำหนด เส้นตายปี 2050/2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเด็นถ่านหิน ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่จะยุติการใช้ถ่านหินในแต่ละประเทศ รวมถึงสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซมีเทนยังถูกลดความสำคัญด้วย