ชาวนา 4 ภาคประกาศตั้งสมาพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทย เตรียมเคลื่อนไหวรื้อโครงสร้างราคาข้าวดึงส่วนต่างกำไรข้าวในประเทศกำหนดราคาซื้อข้าวเปลือก
จากที่นายศุภผล ผลพูนศิริ แกนนำกลุ่มเกษตรกรตำบลศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มเกษตรกร 4 ภาค พร้อมสมาชิกได้จัดประชุมเสวนาในพื้นที่ ต.บ้านมะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
ทั้งนี้พร้อมประกาศจัดตั้ง สมาพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทย (สชท.) โดยมีตนเป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาข้าวเปลือกด้วยความเป็นธรรม เพื่อร่วมกันแสวงหาปัจจัยการผลิต
อันประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรและอุปกรณ์ เงินทุน ฯลฯ ที่มีราคาเป็นธรรม เพื่อร่วมกันประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแสวงหา และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ระบบชลประทานเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสมบูรณ์ในการทำนา
“ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือ ประมาณ 17 ล้านคน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรัง เฉลี่ยปีละ 70-71 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 47% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ 149 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าวเปลือก 30-34 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี คิดเป็นผลผลิตข้าวสาร 15-17 ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศ 10-12 ล้านตัน ส่งออก 5-7 ล้านตัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ใช้กฎหมายและระเบียบ กำหนดราคาข้าวสารส่งออก เป็นฐานในการคำนวณราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายให้โรงสี ซึ่งเป็นกลไกที่บิดเบือนไม่เป็นธรรม เพราะโดยความเป็นจริงราคาข้าวสารที่บริโภคภายในประเทศมีราคาสูงกว่าราคาส่งออกมากถึง 100% และมีสัดส่วนสูงถึง 60-65% ของปริมาณข้าวสารทั้งหมด
เป็นเหตุผลที่ทำให้พ่อค้าข้าว มีกำไรจากการขายข้าวในประเทศมากกว่าแสนล้านบาท/ปี ซึ่งตัวเลขตรงนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องใช้เป็นข้อมูลสำคัญ กำหนดราคาข้าวเปลือกด้วยความเป็นธรรม โดยการนำกำไรส่วนต่างราคาข้าวสารที่บริโภคภายในประเทศมาร่วมคำนวณกับราคาข้าวสารส่งออก เพื่อเอารายได้ที่แท้จริงมากำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกของชาวนา” ประธาน สชท. กล่าว
ด้านนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กล่าวในฐานะประธานที่ปรึกษา สชท.ว่า ข้อเรียกร้องของ สชท.คือ จะต้องจัดระเบียบโรงสีขึ้นทะเบียนโรงสีในระบบออนไลน์เพื่อเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายข้าวให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องปรับโครงสร้างราคาซื้อขายข้าวเปลือกจากเดิมอ้างอิงราคาส่งออก เป็นราคาขายข้าวสารจริง
โดยให้นำรายได้ส่วนต่าง 60 % มาคำนวณเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ดังนั้นบทบาทของ สชท.จากนี้เป็นต้นไปคือนำข้อเรียกร้องนี้ไปทำความเข้าใจและรวบรวมสร้างเครือข่ายสมาชิกและเมื่อถึงเวลาพวกเราจะไปยื่นข้อเรียกร้องกับกระทรวงพาณิชย์
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ซึ่งได้รับเชิญร่วมเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า ในอดีตชาวนามีอำนาจต่อรองมากจนเมื่อมีนโยบายประชานิยมจึงทำให้ ชาวนาอ่อนแอลง ชาวนาเป็นกลุ่มอาชีพที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศแต่กลับไม่มี ส.ส.ที่มาจากชาวนา
สิ่งเดียวที่จะทำให้เข้มแข็งคือการรวมกลุ่มกัน ความมั่นคงของชาวนาต้องผูกพันกับการเมือง แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ บริบทการเมืองวันนี้ยังอยู่ในจุดอันตราย รัฐบาลก็มุ่งแต่นโยบายเงินดิจิตอล นโยบายเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนด ขณะที่ฝ่ายค้านก็มุ่งแต่นโยบายแก้ ม.112 ระบอบประชาธิปไตยยังไม่สามารถเฟ้นชาวนาชาวไร่เข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งอนาคตไม่รู้เป็นอย่างไรแต่ตนฝันเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถตอบโจทย์วิถีสังคมไทย
“ถึงเวลาพี่น้องชาวนารวมตัวกันเพื่อต่อรองกับฝ่ายการเมืองทำไม ชาวนาเจอแต่นโยบายจำนำข้าวกับประกันรายได้ แต่เป็นคือความยั่งยืนของชาวนาหรือไม่ เพราะชีวิตชาวนายังเหมือนเดิมถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและนักการเมืองมาตลอด การรวมตัวเป็นสมาพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งในอนาคตอาจจะได้ทำงานร่วมกัน” นพ.วรงค์ ระบุ
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการ สชท.ประกอบด้วย 1.นายศุภผล ผลพูนศิริ (ประธานสมาพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทย) กลุ่มเกษตรกรตำบลศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย
2.นายสมศักดิ์ ตำหนิงาม (รองประธาน) กลุ่มชาวนาบ้านหนองไร่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 3.นายพรรษา อ่อนหวาน (รองประธาน) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวปลอดภัยบ้านดอนดู่ ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม
4.นายธนัฐ จันทร์มาลา (เลขานุการ) กลุ่มเกษตรกรบ้านขุนภูมิ ต.เดื่อศรีคันไชย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 5.นายสกล มาเนียม (กรรมการ) กลุ่มผลิตข้าวและค้าข้าวบ้านหนองหัวลิง อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
6.นางธัญญ์รัศม์ นิ่มอนงค์ (กรรมการ) กลุ่มชาวนานักวิจัยบ้านมะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 7.นายสมจิตร ดวงเพ็ชรแสง (กรรมการ) กลุ่มเกษตรกรทำนาตำบลบ้านฝาง อ.สระใคร จ.หนองคาย
8.นายเกษม รอดไธสง (กรรมการ) กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองลุมปุ๊ก ต.โนนตูม อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา 9.นายประพัฒน์ ปรีการ (กรรมการ)กลุ่มเกษตรกรบ้านใหม่คำ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
10.นางสาวนรากร อ่อนละมุล (กรรมการ) กลุ่มเกษตรกรบ้านคำสร้างบ่อ ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ขณะที่ 11.นางสาวเปมิกา หงส์อาจ (กรรมการ) กลุ่มชาวนาบ้านจตุรพักตรพิมาน อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด
อย่างไรก็ตาม โดยมี นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นประธานที่ปรึกษา พร้อมด้วย นายทศพล พรหมเกตุ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ