รบ.โหมกระตุ้นบริโภค!?! กดปุ่ม”เพิ่มเงินบัตรคนจน-คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน” คาดเงินหมุน 2 แสนล้าน GDP โดด 0.54%

1566

บิ๊กตู่และทีมเศรษฐกิจชี้แจง ครม.อนุมัติ 3 มาตราการกระตุ้นการบริโภคช่วงไตรมาส 4 ได้แก่ “คนละครึ่ง”, “เติมเงินบัตรสวัสดิการ”และ “ช้อปดีมีคืน”สามารถครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน คาดมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ 192,000 ล้านบาท และทำให้ GDP เพิ่ม 0.54%

ภายหลังการประชุม ครม.(อังคาร 13 ต.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้นำทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยนายกฯกล่าวว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้อย่างระมัดระวังที่สุด มาตรการต่างๆที่ทำไปจะครอบคลุมทุกกลุ่ม 

นายกฯ กล่าวว่าครม.ได้อนุมัติหลายเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ และเรื่องสำคัญคือการดูแลบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ช่วยคนไทยหลายสิบล้านคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ และในส่วนของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศก็ได้ทยอยเดินทางกลับมาจำนวนหลายแสนคนเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลประชุมในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  (ศบศ.) ได้มีการปรับปรุงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปรับปรุงมาตรการต่างๆให้ดีขึ้น และมีมาตรการใหม่ๆออกมาเพิ่มเติมทำหลายๆอย่าง หลายๆมาตรการไปพร้อมๆกัน 

“เป้าหมายหลักคือการช่วยคนที่มีรายได้น้อยให้พอมีเงินใช้จ่าย และช่วยให้คนที่มีรายได้มาก คนที่มีเงิน แต่ไม่อยากใช้ได้ออกมาใช้เงินไปด้วย เพื่อดึงเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีทั้งผู้ผลิต การแปรรูปตลาด ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าไปรังเกียจรังงอนซึ่งกันและกัน” นายกรมต.กล่าว

3 มาตรการสำคัญที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ครม.ได้อนุมัติแล้ว ได้แก่ 

1.มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชน 14 ล้านคน คนละ 1,500 บาท ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ 

2.มาตรการคนละครึ่ง กระตุ้นค่าใช้จ่ายโดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่งรัฐบาลช่วยออกอีกครึ่งหนึ่ง นี่คือผู้มีรายได้น้อย ร้านค้าปลีกแต่ต้องขึ้นทะเบียน จะเป็นการจ่ายเงินตรงด้วยระบบอีวอลเล็ท 

3.มาตรการช้อปดีมีคืน ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า 30,000 บาท ไปลดภาษีได้ คนละ 30,000 บาท  อันนี้จะให้ช่วยกันซื้อสินค้าคงทน อันแรกเป็นการซื้อสินค้าทั่วๆไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะมีมาตรการเฉพาะกลุ่มออกมา และจะทยอยออกมาต่อเนื่อง เริ่ม 23 ตค.-31 ธ.ค.2563

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กล่าวว่า ผ่านมาตรการต่างๆจะมีเม็ดเงินที่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณของรัฐ 6 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนที่เหลือก็เป็นเหลือจะเป็นในส่วนของรวมไทยสร้างชาติ ประชาชนคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำประเทศไทยให้กลับมาแข็งแรงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในการดูแลขับเคลื่อนเศรษฐกิจมี 4 ด้านได้แก่ 

1.การดูแลแก้ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจที่มีสัดส่วน 80% ของจีดีพีหลังได้รับกระทบจากโควิด-19 

2.การฟื้นฟูกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะหลังคลายล็อกดาวน์ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก 

3.การฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ต้องดูแลทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ สายการบิน 

4.การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วน 20%ของจีดีพี ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันงบล้างท่อเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

“เศรษฐกิจกิจไตรมาสที่ 1 และ 2 ติดลบกันทั่วโลก ฉะนั้นนอกจากการออกมาตรการระยะสั้น เราต้องดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐให้เพียงพอด้วย ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางแก้ไขการใช้เงินภายใต้กรอบฟื้นฟูวงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมถึงซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ออกโดยเร็ว ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศฟื้น ภาระในการใช้เงินกู้ก็จะลดน้อยลงไป”

ทั้งนี้ รมว.คลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิดไปอีก 1-2 ปี ดังนั้นหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการระยะยาว ในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการประชุมสัมมนาต่างๆ โดยไทยจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาว่าไทยมีความพร้อมและปลอดเชื้อโควิด-19 ส่วนปัญหาแทรกแซงทางการเมืองต่อการทำงานไม่ได้กังวล เพราะตนตั้งใจเข้ามาทำงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรมองคนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน เป็นแรงส่งเศรษฐกิจไตรมาส 4

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มาตรการ “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน”น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้และทำให้ยอดค้าปลีกในภาพรวมปี 2563 หดตัวลดลงเหลือร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการฯ ที่คาดว่าจะหดตัวราวร้อยละ 7.2 YoY ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า การอำนวยความสะดวกในเรื่องของใบกำกับภาษี รวมถึงการเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือรายได้ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจที่จะใช้สิทธิจากมาตรการฯ ดังกล่าว มากกว่าร้อยละ 70.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 500,000 บาทต่อปี ส่วนใหญ่ยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นโอกาสให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมถึงร้านค้าและร้านอาหารที่เช่าพื้นที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) รวมถึง E-market place และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่น่าจะมีโอกาสเพิ่มยอดขายมากขึ้น โดยสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคน่าจะซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แก่ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร อุปกรณ์ไอที เช่น Smart phone, Smart watch และของใช้จำเป็นส่วนบุคคล