จากกรณีสภาล่ม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ตรวจสอบการแสดงตนเป็นองค์ประชุมสภาฯ ที่มีส.ส.แสดงตน จำนวน 195 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมจำนวน 237 คน ทำให้เป็นที่วิพากษืวิจารณ์ในสังคมเป็นจำนวนมากนั้น
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วน พรรคเพื่อไทย แสดงตนเพียงแค่ 2 คน คือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ไม่แสดงตน 129 คน ซึ่งที่น่าสังเกตคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ก็ไม่แสดงแสดงตนด้วยเช่นกัน
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ชี้แจง กรณีถูกตั้งคำถามเรื่องพรรคเพื่อไทยไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม ทำให้สภาล่มว่า เรื่อง สภาล่ม สองครั้งในวีคนี้ หลายคนสับสนว่าเหตุใด เพื่อไทย จึงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม แตกต่างจากก้าวไกลที่อยู่เป็นองค์ประชุม
เหตุผลง่ายๆ คือเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย คือการยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และการที่สภาล่ม เป็นสัญญานชี้ว่ารัฐบาลไม่อาจคุมเสียงข้างมากในสภาได้ จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาเร็วขึ้น เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า ถ้าไม่อยากเลือกตั้ง สภาต้องไม่ล่มยืนยันครับ พรรคเพื่อไทยอยากเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน
เรื่อง พรบ.สุรา จริงๆ คือพรบ.สรรพสามิต เสนอโดย ส.ส.เท่า มติพรรคเพื่อไทยคือแสดงตนและเห็นชอบกับ พรบ. แต่มติที่ไม่ร่วมแสดงตน คือญัตติของรัฐบาลที่ว่าจะขอส่ง พรบ.ให้รัฐบาลไปพิจารณาสองเดือน เพราะเป็นแค่เกมเตะถ่วงของรัฐบาลเท่านั้น และจะเสียเวลาประมาณ 4 เดือนเป็นอย่างต่ำ (2เดือนครม. อีก1เดือนปิดสมัยประชุม อีก1เดือนกลับมารอคิวตามวาระสภา) และเมื่อกลับมายังสภา
ทุกฝ่ายก็ทราบอยู่แล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางผ่าน กม.จากสส.ฝ่ายค้านเด็ดขาด สุดท้ายก็ตก แต่เข้าใจทุกฝ่าย ว่าทางผู้เสนอย่อมประสงค์จำนำเสนอและฝากความคิดไว้ในสังคม แต่เมื่อไม่อาจเล็งผลเลิศ เพื่อไทยเลือกให้สภาล่ม เอาพล.อ.ประยุทธ์ไปไวๆดีกว่า
วันนี้ สดๆร้อนๆ สภาล่มก่อนรายงานเรื่องบำนาญ ข้อเท็จจริงคือมีอีกหนึ่งรายงานก่อนจะถึงบำนาญ และรายงานเหล่านี้เป็นรายงานจาก กมธ.ศึกษามาเสนอสภา พรรคเพื่อไทยมีมติรับรายงานเรื่องบำนาญถ้วนหน้านี้ครับ แต่รายงานนี้ไม่ใช่การแก้กม. ไม่มีผลบังคับใช้ การไปบิดเบือนว่ารายงานนี้จะทำให้เกิดระบบบำนาญจริงเป็นเรื่องเท็จ เมื่อสภามีมติรับรายงาน จะต้องลงมติต่อว่าจะให้ส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลหรือไม่ แต่การส่งข้อสังเกตไม่มีผลทางบังคับต่อรัฐบาล จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ดีไม่ดีไม่ได้อ่าน สภาส่งเรื่องแบบนี้ไปรัฐบาลหลายครั้ง ไม่เห็นพล.อ.ประยุทธ์เอาไปทำซักเรื่อง
สุดท้าย ขอบพระคุณสำหรับคำติชม แต่เมื่อเป็นมติจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อไทยยืนยันเดินตามมติ และไม่ขอเป็นองค์ประชุมให้พล.อ.ประยุทธ์ยืดอายุต่อไปอีก ส.ส. อย่างผมยอมตกงาน ให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เอาพล.อ.ประยุทธ์ออกไปครับ
ล่าสุดวันนี้ 05 กุมภาพันธ์ 2565 นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.กทม. พรรคกล้า ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์สภาล่ม รวมครั้งล่าสุดที่เกิดสัปดาห์นี้ ถือว่าสภาชุดนี้ ประชุมล่มมาแล้วถึง 14 ครั้ง ส.ส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งที่กินเงินเดือนภาษีประชาชน ซึ่งเหตุการณ์สภาล่ม ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป
ทั้งนี้นายพงศ์พล ยังกล่าวว่า เงินเดือน ส.ส. กับทีมงาน 8 ตำแหน่ง อยู่ที่ 242,560 บาทต่อเดือน คิดวันละ 8,085 บาท ส.ส.ทั้งหมด 473 คน เท่ากับวันละ 3.82 ล้านบาท ค่าสถานที่รัฐสภา ประมาณวันละ 360,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 4,180,000 บาท ซึ่ง สภาล่มมาแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง เท่ากับงบประมาณ 58.5 ล้านบาท
“นักเรียนขาดเรียน ยังโดนตัดคะแนน พนักงานเงินเดือนขาดงาน ยังโดนตัดเงิน แล้ว ส.ส. ที่รับเงินเดือนเต็มจากภาษี แต่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้ภาษีเราสูญสิ้นฟรีไปกว่า 58 ล้านบาท ควรมีมาตรการลงโทษหรือไม่” นายพงศ์พล กล่าว
นอกจากนี้ นายพงศ์พล ยังเสนอให้มีบทลงโทษ เช่น 1.ตั้งกรรมการสอบสวน โดนคาดโทษให้ใบเหลือง 2.หมดสิทธิ์อภิปราย – โหวตลงมติ 3.ถูกหักเบี้ยประชุม – เงินประจำตำแหน่ง หรือ 4.หมดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง เมื่อขาดประชุมซ้ำซาก ทุกองค์ประชุม
“ขอเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับมาตราการตรวจสอบ ส.ส. ร่วมลงชื่อที่แบบฟอร์มออนไลน์ผ่าน Change.org ได้ทางลิ้งค์ https://chng.it/cXQwCrc2mG เพื่อยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในลำดับถัดไป” นายพงศ์พล กล่าว