ย้อนลึก นักกีฬาไทยไปแชมป์โลกสร้างชื่อปท.แต่ไร้ธงชาติบนยอดเสา! เกิดขึ้นหลายครั้ง 3เดือนแล้ว!

2482

ย้อนลึก นักกีฬาไทยไปแชมป์โลกสร้างชื่อปท.แต่ไร้ธงชาติบนยอดเสา! เกิดขึ้นหลายครั้ง 3เดือนแล้ว!

จากกรณีที่ “บาส-ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รันตชัย คู่ผสมมือ 1 ของโลกขวัญใจชาวไทย ได้รับเหรียญทองศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก ณ เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงพิธีรับเหรียญที่ต้องมีการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาทั้งผู้ที่ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ปรากฎว่าไม่มีธงชาติไทยปรากฎอยู่บนยอดเสา โดยเป็นเพียงแต่สัญลักษณ์ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เท่านั้น

สาเหตุดังกล่าวเป็นเพราะว่าประเทศไทยโดนกำลังโดนแบนห้ามใช้ธงชาติไทยตามคำสั่งขององค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ WADA เนื่องจากเหตุผลด้านกฎหมายของไทยที่ยังไม่สามารถรับรองกฎเกณฑ์ของทาง WADA ได้
แต่จะสามารถกลับมาใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันมหกรรมกีฬาต่างๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามของนักกีฬาเสียก่อน ที่สำคัญและต้องแก้ไขให้ได้ คือการปรับปรุงแก้ไขให้หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการใช้สารต้องห้ามของประเทศไทย กลายเป็นหน่วยงานอิสระให้ได้

ในขณะทางด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า #พวกท่านมัวทำอะไรกันอยู่ หลังจากที่ นักกีฬาแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก ได้รับเหรียญทองศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก ณ เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ในช่วงพิธีรับเหรียญที่ต้องมีการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ปรากฎว่าไม่มีธงชาติไทยปรากฎอยู่บนยอดเสา มีแต่ชาติที่ได้รับเหรียญเงินและเหรียญทองแดง เนื่องจากไทยเราโดนแบนห้ามใช้ธงชาติไทยตามคำสั่งขององค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ WADA จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามของนักกีฬาเสียก่อน

คำถามที่ต้องถามทั้งรัฐบาลและนักการเมืองในสภา พวกท่านนักการเมืองที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ อย่ามัวเล่นเกมส์การเมือง จะต้องร่วมมือกันรีบแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องตามกฎเกณฑ์ ควรต้องเร่งรีบ ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือศักดิ์ศรีของชาตินะครับ
โดยประเด็นดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิของชาติอย่างร้ายแรง เมื่อองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ประกาศลงโทษ แบนประเทศไทยออกจากเวทีกีฬาโลก ห้ามชักธงชาติไทยในสนามแข่งขัน ห้ามนักกีฬาปักธงชาติบนอกเสื้อ ห้ามไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และ ปลดตัวแทนประเทศไทยออกจากคณะกรรมการสหพันธ์กีฬาต่างๆของโลก ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2564 แต่อนุญาตให้นักกีฬาไทยเข้าแข่งขันได้ โดยไม่โชว์ธงชาติไทย ทั้งนี้ วาดาได้ส่งคำเตือนมายังรัฐบาลไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 แล้ว วาดาขอให้ไทย แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับ ธรรมนูญการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกฉบับล่าสุด
ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 64 มองโกเลีย เจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอล ชิงแชมป์เอเชียยู-23 จัดพิธีเชิญธงชาติประเทศที่ร่วมแข่งขันขึ้นสู่ยอดเสาในสนามแข่งขัน เอ็มเอฟเอฟ สเตเดียม แต่ “ไร้ธงไตรรงค์” บนยอดเสาเหมือนชาติอื่นๆ คุณนวลพรรณ ลํ่าซํา ผู้จัดการทีมชาติไทย ซึ่งนำทีมฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ไปร่วมแข่งขัน ได้แต่ให้กำลังใจ ลูกทีมว่า แม้เราจะไม่มีธงไตรรงค์ในสนาม ทุกคนในฐานะทีมชาติไทย เราพร้อมจะทำเพื่อชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เช่นเดียวกับ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นำ ทีมแบดมินตันไทย ไปแข่ง เวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 1000 ที่ เดนมาร์ก ก็ไม่มี “ธงไตรรงค์” บน ยอดเสาและธงชาติที่อกเสื้อ แต่นักกีฬาไทยก็สู้ไม่ถอย
ต่อมา ก็ได้การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือกนั้น ทีม “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ไม่สามารถประดับธงชาติไทยในสนามได้แต่ยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงชาติไทยก่อนการแข่งขันอยู่ โดยโปรแกรมต่อไปของทีมชาติไทย คือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2564-1 มกราคม พ.ศ.2565

โดยนายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เรื่องบทลงโทษของวาด้าที่จะมีผลต่อการแข่งขันเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ นั้น ทาง สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ในฐานะฝ่ายจัดการแข่งขันจะเป็นผู้ประสานงานกับทางวาด้าถึงมาตรการต่างๆ แล้วนำมาแจ้งอีกครั้ง โดยมีทั้งทีมชาติไทยและอินโดนีเซีย ที่ถูกลงโทษจากวาด้าอยู่ ทางเอเอฟเอฟนั้นเห็นแนวทางจากเอเอฟซี ที่จัดการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ในเบื้องต้นคิดว่าน่าจะยึดตามแบบดังกล่าว คือไม่ให้ประดับธงชาติของไทยและอินโดนีเซียในสนามแข่งขัน แต่ยังสามารถเปิดเพลงชาติได้อยู่ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอการยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

และต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา การแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2021 ที่ยูนูโซบอด สปอร์ต คอมเพล็กซ์กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ปรากฏว่า นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย โชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการกวาดไปทั้งหมด 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน รับเหรียญรางวัลกลับไม่มีธงชาติไทยโบกสบัด หลังจากที่วงการกีฬาไทยถูกองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) แบนเป็นเวลา 1 ปีตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา

โดยเรื่องนี้ นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุว่า ได้ปฏิบัติตามกฎของ WADA ทุกอย่างแล้ว เพียงแต่แก้กฎหมายไม่ทัน ซึ่งได้เร่งด่วนในการแก้กฎหมายแล้ว ความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยขณะนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อยู่ระหว่างการรับการประเมินผลการดำเนินการการต่อต้านการใช้สารต้องห้าม

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้อัพเดทความคืบหน้า ซึ่งทาง WADA ได้ชี้แจงการใช้ธงชาติไทยผ่าน AIBA โดยเนื้อหาระบุว่า ตามประกาศขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้แจ้งว่า ในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันที่สาธารณรัฐเซอร์เบีย ขณะนี้ มีประเด็นเรื่องธงชาติไทย ในเครื่องแต่งกายของนักกีฬา ทำให้นักกีฬาไม่สามารถใส่เสื้อผ้าที่ติดธงชาติไทยได้ ในกรณีดังกล่าว ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งประสานงานไปทางวาดา และ ไอบา เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่กระทบต่อการเป็นตัวแทนทีมชาติไทย

ผู้ว่า กกท. กล่าวว่า หลังจากการประสานงานโดยเร่งด่วน นับเป็นข่าวดีที่ ทั้งสองหน่วยงานได้หารือกันและชี้แจงผ่าน กกท. แล้วว่า สำหรับเครื่องแต่งกายของนักกีฬาสามารถติดธงชาติได้ ทั้งนี้ ไม่ได้จัดให้มีขบวนพาเหรดในการแข่งขัน จึงไม่มีการแสดงธงชาติ และยังไม่สามารถแสดงสัญลักษณ์ธงชาติบริเวณพื้นที่การแข่งขันได้ จากประกาศของวาดา ที่ทราบกันนั้น มาตรการและข้อกำจัดที่วาดามีต่อประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับที่เบาและได้รับการลดหย่อนอย่างมากแล้ว ประเทศไทย ปฏิบัติตามธรรมนูญของ WADA อย่างเคร่งครัด ต่อเนื่องและผ่านการตรวจประเมินเป็นที่น่าพอใจมาโดยตลอด มีเพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ที่ต้องปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานที่วาดาให้การรับรองได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประเด็นดังกล่าว ได้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ทำให้คนไทยเกิดการตั้งคำถามว่า เหตุในส.ส.ในสภา โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ถึงไม่มีการผลักดันหรือเดินหน้าแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กลับเงียบกริบถึงกรณีของธงชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ต้องรีบเร่งแก้ไขโดยเร็ว