เมกา-ลูกหาบมีหนาว!?ปูติน-สี จิ้นผิงถกความมั่นคง ชูยุทธศาสตร์ ‘หลังพิงหลัง’ พร้อมชนสหรัฐ-ตะวันตก

922

ผู้นำของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีประชากรมากที่สุดได้จัดการเจรจาในวันนี้ โดยมอสโกและปักกิ่งให้คำมั่นต่อสาธารณชนในการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างจีน-รัสเซียและพันธมิตรตะวันออก กับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก

วันที่ 15 ธ.ค. 2564 ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และปธน.สี จิ้นผิง แห่งจีน เตรียมพูดคุยกันทางไกล ในขณะที่ทั้งสองประเทศเผชิญกับความขัดแย้งที่เลวร้ายยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ และพันธมิตรในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียถูกกล่าวหาว่าวางแผนรุกรานยูเครนเพื่อนบ้าน ซึ่งมอสโกปฏิเสธมาโดยตลอด เมื่อเกิดขึ้นอาจเป็นข้ออ้างให้จีนสั่งปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดไต้หวันได้ ซึ่งปักกิ่งยืนยันว่าไต้หวันเป็นอาณาเขตอธิปไตยของตนอยู่แล้ว แม้จะอยู่นอกเหนือการควบคุมมาตลอดเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม เพราะเป็นข้อตกลงพิเศษ 1 ประเทศ 2 ระบบในอดีต

ก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิง กล่าวถึงปูตินว่าเป็น“เพื่อนที่ดีที่สุด”ของเขา และเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของประเทศจีนบนเวทีโลก โดยทั้งคู่ยืนยันว่าพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันในการเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองและการคว่ำบาตรจากสหรัฐและตะวันตก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความร่วมมือทางทหารและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่ามหาอำนาจทั้งสอง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันน้อยกว่ากลุ่มอย่าง NATO มีโอกาสกลายเป็นคู่แข่งขันและแตกกันในที่สุดได้

เมื่อต้นปีนี้ ปูตินอ้างว่าความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกวและปักกิ่ง“ถึงระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์”ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง ยี่ ยืนยันว่าทั้งสองประเทศ“เป็นเสาหลักของสันติภาพและความมั่นคงในโลกเสมอมา” เขากล่าวว่า “ยิ่งโลกไม่มั่นคงและวุ่นวายมากเท่าไร ความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียก็จะยิ่งมีความเด็ดขาดมากขึ้นเท่านั้น”

 

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของเครมลิน(Dmitry Peskov:Kremlin Press Secretary) กล่าวว่า มันจะเป็นโอกาสสำหรับ“การเจรจาที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมีวาระที่ครอบคลุมกว้างมาก”

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันจันทร์ที่ผ่านมา กล่าวว่าปักกิ่งคาดหวังและเชื่อว่าการประชุมทางวิดีโอครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันในระดับสูง ส่งเสริมยุทธศาสตร์ หลังพิงหลัง หรือ’back-to-back’ ของจีน-รัสเซียอย่างจริงจัง 

“การประสานงานและการพัฒนาที่แข็งแกร่งของความร่วมมือเชิงปฏิบัติรอบด้าน จะช่วยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และเกิดพลังงานในเชิงบวกสำหรับภูมิทัศน์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและราบรื่น”

เปสคอฟ กล่าวถึงกิจการระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปขณะนี้อยู่ในภาวะ “ตึงเครียดมาก”และต้องการ“การพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างพันธมิตรมอสโกวและปักกิ่ง” รัสเซียชี้ว่า สหรัฐและชาติตะวันตกทำให้ภูมิภาคนี้สั่นคลอนด้วยการขนส่งยุทโธปกรณ์ไปยังพรมแดน ขณะที่นักการเมืองอเมริกันกล่าวหาว่ามอสโกเป็นภัยคุกคามต่อยุโรปตะวันออกที่มีอยู่จริง

ประมุขแห่งรัฐทั้งสองจะหารือเกี่ยวกับ“ความก้าวร้าวอย่างมากจากทั้งนาโตและสหรัฐฯ”เป็นหัวข้อหลักสำหรับการเจรจาระหว่างปูตินและสี 

ในเดือนตุลาคม เรือรบรัสเซียและจีนเข้าร่วมกองกำลังเพื่อจัดภารกิจลาดตระเวนในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก การซ้อมรบมีขึ้นไม่นานหลังจากการเปิดเผยสนธิสัญญาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันกับอังกฤษและออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มออคัส ‘AUKUS’ ซึ่งได้รับรู้ทั่วกันอย่างกว้างขวางว่าถูกออกแบบมาเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ มอสโกเข้าร่วมปักกิ่งและชี้ว่า กลุ่มออคัสอาจทำให้เกิดการแข่งขันอาวุธเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ฝั่งตะวันตกพยายามเสี้ยมให้รัสเซียกับจีนแตกคอกัน เมื่อเดือนก่อน นายพลระดับสูงของสหรัฐฯ ได้เตือนอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐยักษ์ใหญ่จะแย่ลง นายพลจอห์น ไฮเทน(General John E. Hyten) รองประธานกรรมการเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ บอกกับที่ประชุมกลุ่มนักคิดว่า ความขัดแย้งอาจวนเวียนจนควบคุมไม่ได้ “เราไม่เคยต่อสู้กับสหภาพโซเวียต”  เขากล่าวว่า “สำหรับมหาอำนาจสหรัฐ เป้าหมายของเราคือไม่ทำสงครามกับจีนและรัสเซีย เพราะทำลายโลกและเศรษฐกิจโลก มันจะไม่ดีสำหรับทุกคน และเราต้องแน่ใจว่าเราจะไม่จบลงไปบนเส้นทางนั้น”

แต่ในความเป็นจริงตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะสหรัฐและพันธมิตรดำเนินการยั่วยุในจุดเปราะบางของสองประเทศอย่างคึกโครม ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและส่งเสริมการทหารกับคู่พิพาท สำหรับจีนใช้ไตัหวันเป็นตัวเปิดเกมยั่วยุ ส่วนรัสเซียใช้ยูเครนเป็นตัวกดดันยั่วยุ สถานการณ์คุกรุ่นในพื้นที่ยุโรปตะวันออกและทะเลจีนใต้ สหรัฐเป็นตัวการผลักดันทั้งสิ้น จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ดึงพันธมิตรNATO, G7, G20 มาร่วมวงครบถ้วน และยังได้จัดตั้งกลุ่ม QUAD และ AUKUS เดินเกมรุกทั้งการทูต เศรษฐกิจและการทหารอย่างทั่วด้าน

การพูดคุยครั้งล่าสุดนี้จะเป็นภาพสะท้อนบทบาทของพันธมิตรทั้งสองว่า จะจับมือร่วมกันไปทิศทางใด และแน่นอนสหรัฐและตะวันตกยิ่งต้องจับตาไม่กระพริบว่า ความพยายามในการเสี้ยมให้สองยักษ์มิตรประเทศแตกกันได้ผลแค่ไหน หรือล้มเหลว ยิ่งบีบคั้นยิ่งสัมพันธ์แนบแน่น??