ปชช.เทียบผลงานอดีตรมว.ยธ.ล่าแก๊งล้มเจ้า ขณะสมศักดิ์ ลดโทษแก๊งโกงชาติ

1871

จากที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาเปิดเผยถึงการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

ทั้งนี้พบว่ากรมราชทัณฑ์ โดยกระทรวงยุติธรรม ได้พิจารณา รอบ 2 ปรากฏว่ามีนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เช่น

– นายภูมิ สาระผล อายุ 65 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 36 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 12 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 25 ส.ค. 2568

– นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 16 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 10 ปี กำหนดพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571

– นายมนัส สร้อยพลอย อายุ 69 ปี อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พิพากษาจำคุก 40 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษรอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 11 ก.ค. 2569

– นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อายุ 64 ปี นักธุรกิจค้าข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกลดโทษเหลือจำคุก 9 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน กำหนดพ้นโทษ 26 ธ.ค. 2566

– นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 75 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ต้องหาคดีทุจริตรับสินบนเงินใต้โต๊ะการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival) ปี 2545 พิพากษาจำคุก 50 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกเหลือจำคุก 17 ปี รอบสองเหลือจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน กำหนดพ้นโทษ 16 ก.ย. 2569

ต่อมานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาชี้แจงถึงกรณี นายสมชาย ว่า การบริหารโทษและการพิพากษากำหนดโทษเป็นคนละส่วนกัน ภายใต้กรอบอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจตามกฎหมายของแต่ละฝ่าย ซึ่งการบังคับโทษทางอาญา คือ การบริหารโทษ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่ดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ สำหรับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ เป็นกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษเช่นกัน

“เชื่อว่าไม่มีพ่อ และแม่คนใดที่จะที่ลงโทษลูกจนครบ หรือ ตีลูกจนบาดเจ็บล้มตาย ส่วนมากก็จะเอาแต่พอสมควร คือการให้อภัย การให้โอกาส เพื่อให้คนในครอบครัว ได้อยู่อย่างปกติสุข” นายสมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายสมศักดิ์ ยังเคยกล่าวว่า ปัจจุบัน ในประเทศมีนักโทษในเรือนจำมากกว่า 380,000 คน โดย 80% ของนักโทษติดด้วยคดียาเสพติด ซึ่งส่งผลให้เรือนจำทั่วประเทศ มีความแออัดเป็นอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงยุติธรรม จึงนำ “กำไลอีเอ็ม” หรือกำไลสัญญาณที่จะติดข้อเท้าของนักโทษ เอามาใช้งานจริง โดยจะปล่อยตัวนักโทษชั้นดี ที่รับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งหรือใกล้เคียง ให้ออกจากเรือนจำได้

นั่นคือผลงานของนายสมศักดิ์ ที่เรียกได้ว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโดยเฉพาะเรื่องลดโทษทำให้สังคมเกิดคำถาม และจนในที่สุดก็มีการนำไปเปรียบเทียบกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อย่าง พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หรือ บิ๊กต๊อก ที่ปัจจุบันไปเป็นองคมนตรี กระนั้นการที่ประชาชนย้อนคิดถึงก็เพราะผลงานที่ถูกใจและถูกกฎหมายนั่นเอง อย่างเช่นการไล่ล่าขบวนการล้มเจ้า

4 มิถุนายน 2558 รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น ได้พิจารณารายชื่อผู้ต้องหากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในการกล่าวพาดพิง และวิจารณ์สถาบัน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้หลบหนีออกนอกประเทศ จำนวน 31 ราย เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย

โดยในจำนวนนี้ 29 รายมีการออกหมายจับอยู่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน เพื่อให้อัยการส่งฟ้อง ส่วนอีก 2 รายเป็นการออกหมายจับเพิ่มเติม โดยได้ประสานข้อมูลไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดเตรียมข้อมูลผู้ต้องหาให้รอบด้านมากที่สุด และให้ทำการชี้แจงประเทศที่คนเหล่านี้ไปพำนักว่าเป็นความผิดในคดีอาญา มิใช่คดีการเมืองอย่างที่บุคคลเหล่านั้นกล่าวอ้าง เพื่อการเจรจาขอตัวจากประเทศที่ผู้ต้องหาพำนักอยู่

สำหรับรายชื่อและแหล่งที่พำนักของผู้ต้องหาทั้ง 31 ราย โดยส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น เช่น นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเสียชีวิตแล้ว นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี เสียชีวิตแล้ว

นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือชีพ ชูชัย  นางสุดา รังกุพันธุ์ หรือ อาจารย์หวาน นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายเสน่ห์ ถิ่นแสน หรือเพียงดิน นายมนูญ ชัยชนะ หรือ เอนก ซานฟราน นายจักรภพ เพ็ญแข นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายเอกภาพ เหลือรา หรือตั้ง อาซีวะ และนายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์