ระวังเงินเฟ้อพุ่ง!?! น้ำมันแพง-ขนส่งเดือด รัฐบาลยันตรึงดีเซลได้ 30 บาท

1249

ปัญหาราคาน้ำมันแพงในไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต้องแก้ไขหลายมิติพร้อมกันไป ไม่ใช่แก้แค่ปัญหาเชิงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ  สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้ ไม่อาจทำลายการผูกขาดน้ำมัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงได้อย่างถาวรแท้จริง คำถามคือ ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด สิ่งที่นักการเมืองขอ นักเคลื่อนไหวขอจะเป็นจริงได้อย่างไร รัฐบาลทำได้แค่แก้ไขเชิงเทคนิคเพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ของรัฐและ รายได้เกษตรกรต้นทางปลูกปาล์มน้ำมัน จับตาจะลงเอยแบบไหน ข้อสังเกตคือสหรัฐและยุโรปแม้แต่จีน เผชิญปัญหาเดียวกับไทย ดูวิธีรับมือปัญหาของเขาแล้วมองเราเองด้วย

วันที่ 17 พ.ย.2564 ม็อบรถบรรทุกบุกกระทรวงพลังงานขอหั่นดีเซล 25 บาท ขีดเส้น 1 ธ.ค. ยกระดับไล่ รมต. ขู่ขึ้นราคาค่าขนส่ง 10% นายกฯ ยันเร่งแก้ปัญหา วอนอย่ากดดันเห็นใจประเทศบ้าง ครม.ไฟเขียวกู้ 2 หมื่นล้านตรึงราคา 30 บาท “สุพัฒนพงษ์” “อาคม” ยืนยันคู่คาดประคองได้ 4 เดือน ไม่ปิดทางเรื่องลดภาษีน้ำมัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงนี้ ตามข้อเรียกร้องกลุ่มรถบรรทุก ที่ต้องการให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือ 5 บาทต่อลิตร โดยขณะนี้ยังมีกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเข้าไปพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้หากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีเงินเพียงพอ ก็ยังสามารถขยายกรอบการกู้เงินได้อีก เนื่องจากล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้เงินเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2 หมื่นล้านบาทได้เพื่อพยุงราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีกำลังเพียงพอในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศได้

“ราคาน้ำมันเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นผู้ดูแล ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ ก็ยังมีกำลังเพียงพออยู่ เว้นแต่ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูดไป ค่อยมาว่ากันใหม่เรื่องการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปกติราคาน้ำมันในช่วงปลายปีก็จะปรับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นฤดูหนาว และสหรัฐฯ ก็มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในระยะต่อไปคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลง เพราะมีการใช้พลังงานทางเลือกอื่น ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันจากฟอสซิสลดลง”

โดยในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลนั้น กระทรวงการคลังให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นผู้พิจารณาการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็มีช่วงที่เพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งยังสามารถบริหารจัดการให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ในช่วง 30 บาทต่อลิตรได้ โดยกระทรวงการคลังจะให้กองทุนน้ำมันฯ ไปดำเนินการไปก่อนว่าจะดูแลเรื่องนี้ได้มากน้อยเพียงใด

ด้านกระทรวงพลังงาน เล็งหางบฯสำรองตรึงดีเซลหากเงินกู้มาช้า เจรจาลดภาษี-ปรับส่วนผสม B100ไปพร้อมกันด้วย

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรครั้งล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติการกู้เงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรแล้ว จากนี้กระทรวงพลังงานจะเริ่มเจรจาและส่งเอกสารการกู้เงินกับสถานบันการเงิน คาดว่าจะได้รับเงินเข้ากองทุนฯประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค.65 โดยระหว่างนี้กระทรวงพลังงานยังมีเงินเหลืออยู่ 4,515 ล้านบาท เชื่อว่าจะดูแลราคาดีเซลและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2564 นี้

ปัจจุบันราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงประมาณ 800 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องใช้ชดเชยประมาณ 17-18 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG อยู่ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาจำหน่ายมาตั้งแต่ มี.ค.63 ดังนั้น ปลายปี 64 นี้กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนมาตรการช่วยเหลือใหม่ว่าจะตรึงราคาต่อไป หรือทยอยปรับราคาขึ้นบางส่วน เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ และสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

แต่หากราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นสูงกว่านี้ ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) อาจต้องดึงเงินที่อยู่ในกรมบัญชีกลาง 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดการชำระหนี้ แต่เตรียมไว้สำหรับชำระหนี้โรงกลั่นน้ำมัน  หรือเจ้าหนี้รายอื่นๆ เพื่อนำมาหมุนเวียนก่อนจนกว่าเงินกู้จะเข้ามาในกองทุนฯ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเริ่มเจรจากับกรมสรรพสามิตเพื่อเตรียมพร้อมแนวทางปรับลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 5 บาท/ลิตร โดยหากราคาน้ำมันโลกยังปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงเกิน 30 บาท/ลิตร อาจต้องใช้เริ่มพิจารณาการลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน ทั้งนี้ ต้องรอให้ระดับปลัดและรัฐมนตรีของกระทรวงพลังงานและกระทรวงคลังหารือกันอีกครั้งในรายละเอียดประกอบกับ จับตาสถานการณ์ความเคลื่อนไหวพลังงานโลกด้วย