ในระยะเวลา 30 ปีของการสัมปทานไทยคม เราจะพบการใช้เล่ห์กลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่วันนี้คือผู้ต้องหาในหลายๆ เหตุการณ์ หลายวาระ โดยเฉพาะหลังการมีอำนาจ มีฐานะนายกรัฐมนตรีแต่เป็นเจ้าของสัมปทาน ผูกขาดดาวเทียมของรัฐ และส่งไม้ต่อสืบทอดอำนาจในครอบครัวและพวกพ้องบริวาร ทำการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้เอื้อธุรกิจของตน สะท้อนพฤติกรรมทุนผูกขาดที่มีบทบาทนักธุรกิจการเมืองครอบงำเศรษฐกิจและสังคมไทยมายาวนาน
มาทบทวนกันว่าประเทศไทยวันนี้มีดาวเทียมกี่ดวงและทำไมจึงถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนตระกูลเดียว ภายใต้ฉากหน้าโฆษณา “การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม”
สรุปสถานะของดาวเทียมไทยคมโดยย่อดังนี้คือ:
ดาวเทียมไทยคม 1 ไม่มีปัญหา
ดาวเทียมไทยคม 2 ไม่มีปัญหา
ดาวเทียมไทยคม 3 สร้างปัญหา หลังจากที่ทักษิณฯเป็นนายกรัฐมนตรี ตามเงื่อนไขที่ต้องส่งดาวเทียมสำรองคือไทยคม 4 แต่ไม่ยอมส่ง กลับส่งไทยคม 4 ในชื่อ IPstar ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ใช้เชิงพาณิชย์ และสื่อสาร อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปกติแล้วดาวเทียมสำรอง ไทยคม 4 จะต้องมีคุณสมบัติเหมือนไทยคม 3 แต่นี่ไม่ใช่
ปรากฏว่าไทยคม 3 มีปัญหาการทำงาน แต่ไม่มีดาวเทียมสำรองใช้งาน ครั้นได้ค่าประกันดาวเทียมไทยคม 3 มา 33 ล้านเหรียญ ก็มีการใช้อำนาจพิเศษ เอาเงินจากก้อนนี้ 6.7 ล้านเหรียญ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ตนเองต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ยอมส่งดาวเทียมสำรอง และเงินค่าเช่า ต้องเป็นความรับผิดชอบของไทยคมเอง แต่ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทตนเอง
ดาวเทียมไทยคม 4 ตามหลักแล้วต้องส่งเป็นดาวเทียมสำรอง เผื่อไทยคม 3 มีปัญหา แต่ไม่ยอมส่ง แต่มาส่งเป็น IPstar ซึ่งเป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ ส่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ทันสมัยที่สุดด้วยหลักการแล้ว ดวงนี้ต้องถือเป็นดวงหลักดวงใหม่ ต้องจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญาใหม่ แต่ใช้กลไกพิเศษให้ตีความว่า เป็นดาวเทียมสำรอง ของไทยคม 3
เมื่อ IPstar ถูกตีความเป็นดาวเทียมสำรอง ก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มให้รัฐ สามารถไปแสวงหาผลประโยชน์ สร้างความร่ำรวยได้เต็มที่ มีการใช้งานในประเทศไทยเพียง 6% มี 1 สถานีภาคพื้นดิน แต่ใช้หาผลประโยชน์กับต่างประเทศ 96% ใน 14 ประเทศ 18 สถานีภาคพื้นดิน ถือว่าดวงนี้น่าจะสร้างความมั่งคั่ง ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดรายนี้มาก รวยอู้ฟู่มาจนถึงปัจจุบัน
ดาวเทียมไทยคม 5 สร้างทดแทนไทยคม 3 ที่ใช้การไม่ได้ แต่ก็มีปัญหาที่ไทยคม 5 นี้ ก็ใช้การไม่ได้ก่อนหมดอายุ ตามหลักต้องสร้างทดแทนดวงใหม่ แต่ก็ไม่ยอมสร้าง
ดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดาวเทียมสำรองดวง 5 ปัญหาที่เกิดคือ ไม่ได้สร้างตามมาตรฐานดวง 5 แต่มาสร้างขนาดเล็กลง
ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 สร้างหลังจากมี พ.ร.บ. กสทช. และอนุมัติโดย ครม.นางสาวยิ่งลักษณ์ กำลังมีปัญหากับภาครัฐ เพราะไม่ยอมส่งมอบ โดยอ้างว่าสร้างตามใบอนุญาต แต่ กสทช. อ้างภายใต้การสัมปทาน ซึ่งกำลังถกข้อกฎหมาย
ปัญหาของไทยคม 7 ที่คือ ตอนที่ส่งก็อ้างเพื่อส่งไปคุ้มครองสิทธิ์ในวงจร แต่แทนที่จะสร้างเอง กลับไม่ได้สร้างเอง ไปลากดาวเทียมของฮ่องกงมาอยู่ในสิทธิวงโคจรไทย คือเอเชียแซท 6 แต่แบ่งทรานส์ปอนเดอร์ฝั่งละ 14 ทรานส์ปอนเดอร์ เท่ากับผลประโยชน์คนละครึ่ง ระหว่างไทยคมกับเอเชียแซท 6 ของฮ่องกง แต่การที่มาอาศัยวงโคจรที่เป็นสมบัติของชาติ หากดวงนี้ไปสร้างปัญหา ประเทศชาติต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
สัมปทานดาวเทียมไทยคมกำลังจะหมดอายุ ในวันที่ 10 กันยายน 2564 และกำลังจะเปิดประมูลครั้งใหม่ให้สัญญา 20 ปี พอดีคนไทยตาสว่าง ทั้งนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรคไทยภักดี, ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่พากันร้องเรียนจี้นายกฯ, รมว.ดีอีเอส จนต้องยกเลิกประมูลไปก่อน เนื่องจากคณะกรรมการกสทช.เป็นชุดรักษาการ และมีผู้ยื่นซองขอใบอนุญาตแค่ 1 ราย แต่กลับ จัดแพ็คเกจชุดใหญ่ ให้กินรวบอย่างน่าตกใจ ถือเป็นก้าวแรกแห่งชัยชนะของประชาชน
ล่าสุด นพ.วรงค์ฯ ได้แจกแจงเพิ่มเติมของความเกี่ยวโยง คดีฟ้องทุจริตยิ่งลักษณ์และพวกและการล้มการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ของกสทช. ว่าเป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างสูง เพราะถ้าปล่อยไป จะมีการปล้นสมบัติชาติ แบบถูกต้องตามกฏหมาย และย้ำสิ่งที่คนไทยต้องรู้เท่าทันคือ
1.การเปิดประมูลรอบนี้เป็นระบบใบอนุญาต ถ้าบริษัทใดประมูลได้ใบอนุญาต สิทธิ์ต่างๆจะเป็นของเอกชนทั้งหมด
2.การประมูลดาวเทียมไทยคมในอดีต เป็นระบบสัมปทาน หลังจากส่งดาวเทียมเข้าวงโคจร สิทธิ์ทุกอย่างทั้งดาวเทียม สถานีภาคพื้นดินจะถูกโอนเป็นของรัฐทันที (ยกเว้นดาวเทียม2ดวงคือ ไทยคม7และ8 ที่ครม.ยิ่งลักษณ์เห็นชอบให้กสทช.ออกใบอนุญาตทับซ้อนกับสัมปทาน มีอายุ20ปี ซึ่งกำลังฟ้องร้องกันอยู่ เพราะไทยคมไม่ยอมส่งมอบให้รัฐ)
3.ในหลักของกฏหมายอวกาศ ถ้าหากเกิดปัญหาในอวกาศ หรือดาวเทียมตกใส่ลงประเทศใดๆ จนเกิดความเสียหาย รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ การส่งดาวเทียมจึงต้องเป็นของรัฐ หรือระบบสัมปทาน ถ้าเป็นระบบใบอนุญาต จะกลายเป็นเอกชนหากิน มีปัญหาให้รัฐบาลรับผิดชอบ
4.ความเสียหายในระบบใบอนุญาตนี้ นอกจากถ้ามีปัญหาแต่ให้รัฐบาลรับผิดชอบแล้ว เอกชนที่ได้ใบอนุญาต เขามีสิทธิ์เอาใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ไปทำอะไรก็ได้ ไปดึงต่างชาติมาหากิน และสร้างความเสียหายต่อชาติได้ ดังเช่นไทยคม 7 ซึ่งได้ใบอนุญาตไปไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ไปเจรจากับฮ่องกง มาใช้ตำแหน่งวงโคจรไทย ทำไปทำมา เลขที่NORADที่บ่งบอก ตัวตนของดาวเทียม และตรวจสอบoperatorของดาวเทียมกลายเป็นของฮ่องกงไปแล้ว และพื้นที่ให้บริการบนพื้นโลกของเราก็ลดน้อยลง นี่คือความเสียหายอย่างสูงต่อชาติ ยังไม่นับรวมประชาชนแทบไม่ได้อะไร เพราะเขาเอาไปหากินที่อินเดีย แต่เป็นสมบัติชาติเรา
5.การเปิดประมูลรอบนี้ กสทช.จัดเป็นชุดวงโคจร ที่ไทยเรามีทั้งหมด 7 วงใหญ่ แต่แยกเป็น4 ชุดคือ ชุดหนึ่ง 50.5°E 51°E ชุดสอง 78.5°E ชุดสาม119.5°E 120°E และชุดสี่126°E และ 142°E โดยทั้งหมดนี้สามารถยิงดาวเทียมขึ้นสู่ตำแหน่งได้ 13 filingsคือ13 ดวง (โดยหลักแล้ว หนึ่งตำแหน่งวงโคจร ปล่อยดาวเทียมได้ 6 ดวง) ซึ่งกสทช.เปิดให้เอกชนทั้งหมด โดยไม่สนใจปัญหาความมั่นคง
6.การเปิดประมูลรอบนี้ มีเพียงบริษัทลูกของไทยคมบริษัทเดียวที่ประมูล ลองจินตนาการดูนะครับ ถ้าเขาเอาไปหมด ประเทศจะเป็นอย่างไร แค่ไทยคม 7 ดวงเดียว ที่เขาเอาใบอนุญาตไปทำมาหากิน ชาติก็เสียหายอย่างมากแล้ว
7.ระบบดาวเทียมของชาติ ต้องให้รัฐจัดการ ถ้าจะต้องประมูลบางส่วน ต้องเป็นระบบสัมปทาน สุดท้ายแล้ว ต้องให้รัฐต้องดำเนินการเอง เพียงแต่ต้องทำให้โปร่งใส
8.หลังจากล้มประมูลดาวเทียมรอบนี้แล้ว เรายังมีภารกิจทวงคืนไทยคม7 และ8 ที่ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจผ่านมติครม.เห็นชอบ ให้กสทช.ออกใบอนุญาตโดยใช้อำนาจไม่ชอบ ไม่ผ่านการประมูล ออกให้ทับซ้อนกับสัมปทานที่ยังไม่หมดอายุ ที่สำคัญคือเอาไปหากินกับฮ่องกง จนชาติเสียหาย ประชาชนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แต่สร้างความร่ำรวยให้บางตระกูล
นั่นคือวาระที่นพ.วรงค์และทีมงานยังต้องบุกบั่นต่อไป เพราะมีกระแสโต้กลับจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่อ้างเป็นแหล่งข่าวในแวดวงโทรคมนาคมให้สัมภาษณ์สื่อประมาณว่า ไทยเปิดเสรีโทรคมนาคมมาตั้งแต่ปี 2549 การที่นพ.วรงค์และนักวิชาการฯต้านเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน สะท้อนแนวคิดแบบนายทุนที่อ้างเปิดเสรี แต่ทำไมคนได้สัมปทานมาจนแก้เป็นใบอนุญาต เป็นกลุ่มทุนผูกขาดตระกูลเดียว ซึ่งวันนี้เปิดช่องประสานประโยชน์กับกลุ่มใหม่ในนามนอมินีหรือไม่??
แม้จะมีพ.ร.บ.เปิดเสรีแต่การดำเนินการในทางปฏิบัติไม่เสรี จะมีประโยชน์อะไรกับประเทศชาติและประชาชนไทย ระยะเวลา 30 ปีผลประโยชน์มหาศาลแต่รัฐบาลภายใต้เครือข่ายทุนผูกขาดงุบงิบทำกัน สูบผลประโยชน์ พอจับได้ไล่ทันก็อ้างเปิดเสรี
คงต้องจับตาการต่อสู้ทางกฎหมายเรื่อง “การเปลี่ยนสัมปทาน” เป็น “ใบอนุญาต”ทำให้เกิดการผูกขาดโดยเอกชนกลุ่มเดียว ทั้งผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและเปิดช่องคอรัปชั่นเชิงนโยบายให้นักธุรกิจการเมือง จะเป็นอย่างไร? บทพิสูจน์ที่จะนำคนผิดมารับโทษ คืออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพวกที่ใช้อำนาจกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ จะส่งผลสะเทือนต่อข้อโต้แย้งดังกล่าวที่ว่า เป็นระบบสัมปทานแล้วรัฐผูกขาดไม่เจริญเสียโอกาส แต่เป็นใบอนุญาตเจริญกว่าแล้วสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทุนผูกขาด แบบไหนประชาชนไทย และประเทศไทยได้ประโยชน์มากกว่ากัน กฎหมายฉบับไหนมีข้อบกพร่องย่อมแก้ไขได้เสมอ!!!