จากกรณีที่วันนี้ (22 พฤษภาคม 2564) ทางเพจ Thailand Development Report ได้เผยแพร่ข้อมูลของวัคซีนใบยา ที่เตรียมจะฉีดให้กับคนไทยในไตรมาส 4 ปีนี้
โดยทาง ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ตอัพไบโอเทค ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิดจากใบพืชแห่งแรกในประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การพัฒนาวัคซีนโควิดของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมทดลองในคนระยะที่ 1 ในเดือนสิงหาคม 2564 และคาดว่าจะผ่านการทดลองในคนระยะที่ 2-3 และพร้อมให้คนไทยฉีดได้ตามเป้าภายในไตรมาส 4 ปี 2564 หรือไตรมาสแรกปี 2565
โดยวัคซีนป้องกันโควิดของใบยาฯ จะผลิตจากพืชใบยาสูบโดยใช้เทคโนโลยีนำโปรตีนจากพืชมาสร้างเลียนแบบไวรัส ซึ่งจุดเด่นของแพลตฟอร์มการผลิตนี้ คือ มีการทำมานานแล้วกับยาหรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ ทำให้มีความปลอดภัยสูง ประกอบกับการจัดเก็บค่อนข้างง่ายในอุณหภูมิ 2-8 องศา ควบคู่กับการพัฒนาวัคซีนโควิดอีก 8 สายพันธุ์ เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดที่แพร่กระจายได้เร็วขึ้นและอยู่กับคนได้นานขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ และแม้นักวิจัยสามารถคิดค้นวัคซีนต่าง ๆ ขึ้นได้ แต่ก็มักจะติดปัญหาระบบนิเวศการทดลองในไทยไม่เอื้ออำนวย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยแทบไม่เคยคิดค้นหรือทำยาหรือวัคซีนขึ้นเอง
ดังนั้น บริษัทจึงใช้งบฯลงทุนราว 150 ล้านบาท เร่งพัฒนาและปรับปรุงสถานที่ผลิตวัคซีน บนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร เพื่อให้รองรับการผลิตได้ราว 5 ล้านโดสต่อเดือน คาดแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยเคาะราคาวัคซีนอยู่ที่ไม่เกิน 500 บาทเป็นราคาทุน เพื่อขายในช่วงแพร่ระบาดให้แก่ภาครัฐและเอกชน พร้อมกับเล็งส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน หากปริมาณวัคซีนในประเทศมีเพียงพอแล้ว เพราะยิ่งผลิตมากขึ้นเท่าไร ราคายิ่งถูกลงเท่านั้น
ประธานกรรมการ บริษัท ใบยาฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังพัฒนาสินค้าอื่น ๆ อาทิ ยารักษาโควิด เซรุ่มแก้พิษงู ยารักษามะเร็ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในสัตว์ หากทำสำเร็จจะช่วยให้ไทยลดภาระการนำเข้ายาราคาแพงจากต่างประเทศได้ พร้อมกับส่งเสริมการส่งออกยาไปในตัวสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีสถานที่ผลิต และเข้าไม่ถึงยาบางชนิด อาทิ เมียนมา ลาว เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้เล็งหาพาร์ตเนอร์นักลงทุนภายในประเทศที่เก่งด้านปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมธุรกิจของใบยาฯ ซึ่งเป็นบริษัทต้นน้ำ และรองรับการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรามองว่า ในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลางควรเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ส่วนในระยะยาวนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมไบโอเทคของไทย ที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อผลิตยาหรือวัคซีนไว้ใช้ได้เองภายในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศหลักหมื่นล้านบาท หากทำสำเร็จจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศได้เมื่อเกิดกรณีการแพร่ระบาดอื่น ๆ ขึ้นอีก “ต้องยอมรับว่าการผลิตวัคซีนโควิดสัญชาติไทยของใบยาฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน ทำให้การแข่งขันในตลาดไบโอเทคในไทยเริ่มคึกคักขึ้นมา เห็นได้จากการที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเริ่มทำนวัตกรรมมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับประเทศไทยในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อีกสักระยะ”
ในขณะที่ มติชน ได้นำเสนอข่าว ชายวัย 65 ปีได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ได้รับการประสานงานกับทางโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.เมืองชลบุรี ให้ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2564 หลังจากที่ฉีดแล้ว มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเล็กน้อย ต่อมาพบอาการผิดปกติ เนื่องจากเกิดอาการคึกผิดปกติ ยอมรับว่าโดนภรรยาไม่ได้เลย เกิดอวัยวะเพศแข็งตัวและมีอารมณ์ตลอด บางวันต้องหลับนอนถึง 2 ครั้ง จนทำให้ภรรยาบ่นเหมือนกัน ทุกวันนี้ยอมรับว่าสุขภาพดีขึ้น