จากที่ศาลไม่ให้ประกันเพนกวินและพวกรวม7 คน ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการยื่นขอประกันตัวนั้น จะต้องมีเงื่อนไขใหม่ ที่ไม่ใช่ไปท้าทายอำนาจกระบวนการยุติธรรม โดยพฤติกรรมของแม่และแนวร่วมม็อบเห็นได้ชัด ที่สำคัญเงื่อนไขต่างจากของกรณีไผ่ หมอลำแบงค์และสมยศแน่นอน!!!
โดยจากที่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันถึงการประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฏรกับพวกอีก6คน ที่ผ่านมาทีมทนายความไม่เคยนำเรื่องการอดอาหารของแกนนำ ราษฎรมาเป็นเงื่อนไขใช้ในการขอยื่นประกันชั่วคราวจากศาล ซึ่งหากหลังจากนี้ศาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สังคมน่าจะเห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วโดยที่ตนไม่ต้องพูดอะไรอีก ในส่วนของการยื่นประกันตัวชั่วคราว ทางทีมทนายความได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้สำหรับคนละ 2 แสนบาท
ต่อมาวันเดียวกันที่ศาลอาญา นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ เพนกวิน กล่าวภายหลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวบุตรชายและพวกอีก6คน ว่า ภายหลังจากยื่นเงื่อนไขต่างๆ เหตุผลต่างๆ ให้ศาลพิจารณาเรายื่นเหตุผลว่ามีชีวิตหนึ่ง ที่กำลังจะจากไปด้วยความทรมาน ทั้งที่เขาไม่ควรจะโดนเช่นนั้น สิ่งต่างๆ ที่เราแสดงถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราพยามจะบอกให้คนที่มีหน้าที่รักษาความยุติธรรมให้ความยุติธรรมกับเรา
“แต่เขาไม่เห็นค่าของชีวิตเพนกวินที่กำลังจะเสียไป เขาไม่เห็นชีวิตของเราทุกคน เขาไม่เห็นพวกเราเป็นคน หลายๆ คนก็เห็นแล้ว เขาก็รับรู้เราไม่ได้สร้างเรื่อง แล้วทำไมถึงไม่ให้ ประกันตัว เหตุการณ์มันก็เหมือนกับ 3 คนที่ได้ประกันตัวก่อนหน้านี้ เรายื่นเหตุผลและเงื่อนไขเหมือนกัน ทำไมเขาไม่ให้ประกันตัว
ฉันอยากให้ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจ มาอธิบายเหตุผลจริงๆ ว่าทำไมถึงไม่ให้ลูกดิฉันประกัน ทั้งที่ลูกดิฉันยอมรับเงื่อนไขแล้วเด็กยอมลดแล้ว ยอมประนีประนอมแล้ว เหตุใดท่านจึงไม่ยอมประนีประนอมกับเรา แล้วท่านกล่าวหาว่าเราไม่ประนีประนอม ลูกเราแลกด้วยชีวิต อยากให้ท่านอธิบาย ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แม่เพนกวิน ระบุ พร้อมยืนยันได้เสนอเงื่อนไขเหมือนกับ 3 คนที่ได้ประกันเสนอไป
ทั้งนี้สิ่งที่ทนายความ และแม่ของเพนกวิน พูดนั้น เท็จจริงแค่ไหน และอย่างไรที่ว่า ใช้เงื่อนไขเดียวกับ 3 คนที่ได้ประกันตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงอยากจะย้อนกลับไปเมื่อ 23 เมษายน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน สองแกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 4 และ 7 ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112 กรณีชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล
“เพื่อไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่นายสมยศ และ นายจตุภัทร์ ได้ยื่นเข้ามาใหม่อีก โดยคำร้องล่าสุดทั้งสองได้ระบุถึงเหตุผลที่จำเลยตัดสินใจถอนทนายความว่า เกิดจากความกดดันและความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และสิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างเต็มที่ในห้องพิจารณาคดีของศาล ตามปรากฏในคำแถลงขอถอนทนายความ ฉบับลงวันที่ 8 เม.ย. 2564 นอกจากนี้ ทั้งสองยังมีความประสงค์แต่งตั้งทนายความเพื่อปรึกษาและว่าต่างคดีให้กับจำเลย เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป”
นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ เปิดเผยว่า จำเลยทั้งสองคนได้แต่งตั้งตนให้เป็นทนายความประจำคดี หลังจากถอนทนายความออกไปก่อนหน้านี้ และมีการยื่นเหตุผลใหม่ประกอบการขอประกันตัว ซึ่งนอกเหนือจากแนวนโยบายว่าด้วยการให้โอกาสผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดแล้ว มีเหตุผลเฉพาะของนายสมยศ คือ มีอาการป่วยข้อเข่า ส่วนของนายจตุภัทร์ คือ กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเหตุผลประกอบเพิ่มเติม รวมทั้งให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้านี้ด้วย
ต่อมาในการไต่สวนของศาล นายสมยศ เบิกความยอมรับในคำแถลงซึ่งตนสมัครใจเอง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมและไม่กล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์ หากได้รับการปล่อยตัวจะมาศาลตามกำหนดนัด และปฏิบัติตามเงื่อนไขคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด
ขณะนายจตุภัทร์ เบิกความโดยขอยืนยันจะปฏิบัติตามคำแถลงว่าจะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และจะยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล หลังจากถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ตนยังถูกดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค แต่ไม่มีการดำเนินคดีข้อหาตาม ม.112 กับตนอีก เหตุที่ตนไม่เซ็นกระบวนพิจารณาในวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากรู้สึกอึดอัดที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ประกอบกับคำร้องดังกล่าวมี 2 ฉบับ โดยฉบับที่เขียนด้วยลายมือตนไม่ได้เซ็น แต่ตนได้เซ็นชื่อในคำร้องฉบับที่ 2 ที่ทนายความจัดเรียงให้ ตนไม่ได้บอกว่าจะปฏิเสธและไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม
ด้านศาลพิเคราะห์ ภายหลังการไต่สวนแล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร