รัฐบาลยันรถไฟฟ้าสีเขียวใกล้มีคำตอบ!?!แต่องค์กรผู้บริโภคใช้ค่าโดยสาร 25 บาทค้านต่อสัมปทานเข้าทางนักการเมืองเพื่อ??

1683

ปัญหารถไฟฟ้าทั้งสีเขียว-สีส้ม ยังอยู่ในระหว่าง การดำเนินการคลี่คลายให้สามารถบริหารจัดการต่อไปได้ โดยไม่กระทบผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีเค้าลางว่า คณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาตัดสินใจสรุป เกี่ยวกับประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสีเขียว ว่าจะเลือกวิธีแก้หนี้สินที่พ่วงมาจากรฟม.ก้อนหนึ่ง กับที่กทม.ติดหนี้ค่าจ้างเดินรถฯเอกชนก้อนหนึ่งอย่างไร? เป็นปัญหาต้นเรื่องของการ เสนอแก้ปัญหาหนี้โดยให้เอกชนรับไปแบกแทนแลกการต่อสัมปทาน หลักการนี้ผ่านการอนุมัติมาแล้ว จนเกิดรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยายมาให้ประชาชนได้ใช้ในทุกวันนี้ และกลับมาสะดุด ย่อมส่งผลต่อการกำหนดราคาค่าโดยสาร เพราะเป็นต้นทุนที่ตัดออกไปไม่ได้ 

และไม่ทันมีผลสรุปอย่างไร องค์กรผู้บริโภคก็ได้ออกหนังสือ คัดค้านการต่อสัมปทานสายสีเขียว โดยอ้างปัญหาเรื่อง “ราคาค่าโดยสาร 65 บาทแพงต้อง 25 บาท” เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมชูเรื่องราคามาคัดค้าน โดยไม่พูดถึงต้นตอปัญหาเรื่องหนี้สิน และทำไมจึงเจาะจงเฉพาะ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะความไม่ชอบมาพากลของรถไฟฟ้าสายสีส้ม และอื่นๆก็มี จะบอกว่าเพราะกำลังจะเซ็นต์สัญญาก็ไม่น่าจะใช่  เพราะกทม.และบีทีเอสซี คู่กรณียังไม่รู้เลย เนื่องจากนายกฯยังไม่ยืนยันเลยว่าจะเข้าครม.เมื่อไหร่ และจะต้องรอปปช.สรุปก่อน?

กทม.ได้เปิดเผยหนี้ที่จะต้องแบกรับภาระแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.หนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่กทม.ต้องรับมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้น 55,704 ล้านบาท ดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท รวม 69,105 ล้านบาท

2.หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,248 ล้านบาท ที่กทม.ต้องจ่ายให้บีทีเอส และมีกำหนดจ่ายภายในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเลยเวลามาแล้ว

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 9,377 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท ข้อ 3 รวมกับข้อ 2 เกิดขึ้นหลังจากมีการก่อสร้างและเปิดใช้งานโดยบีทีเอสลงทุนเองทั้งหมด

สำหรับราคาค่าโดยสาร 25 บาทใช้ฐานข้อมูลแบบไหนจึงกำหนดมาได้ใกล้เคียงรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งฐานต้นทุนการดำเนินการแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เกิดข้อแคลงใจว่า ทางองค์กรผู้บริโภคใช้ฐานข้อมูลจากที่ไหนมาอ้างอิง การโหมกระแสคัดค้านการต่อสัมปานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีมาอย่างต่อเนื่อง ในหมู่นักการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย การเจาะจงชูประเด็นเรื่องราคาโดยไม่พูดถึงต้นต่อปัญหาแต่อย่างไร เป็นการคัดค้านเอกชนแห่งหนึ่งและจะเป็นการสนับสนุนต่อเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งหรือไม่? เพราะประเทศไทยมีแค่กลุ่มบริษิท2 กลุ่มเท่านั้นที่ดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้าทั้งระบบในแต่ละสาย 

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่การมุ่งเป้าคัดค้าน ขัดขวางโดยเน้นแต่เรื่องราคาดูจะสอดคล้องกับนักการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งๆที่นายกฯได้ยืนยันชัดเจนว่าเรื่องราคาสามารถเจรจาให้เหมาะสมกับต้นทุนได้ ปัญหาคาราคาซังมันคือการแก้ปัญหาหนี้สินเก่าและหนี้สินใหม่ 

อีกประเด็นหนึ่งทางองค์กรผู้บริโภคกล่าวว่า กทม.ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเรื่องหนี้สิน และสัญญาระหว่างกทม.และบีทีเอสซี แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านภาระหนี้สินของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่โอนมาจากรฟม. จนถึงปัจจุบัน และรายละเอียดภาระหนี้สินที่กทม.มีต่อบริษัท บีทีเอสซีก็แจกแจงกันมาโดยตลอด 

นอกจากนี้ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการจราจรขนส่งมหภาคก็ได้แสดงข้อมูล ข้อเปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่า ในความเป็นจริงของค่าโดยสารสารถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นถูกกว่า ถ้าพิจารณาตามระยะทางต่อ กิโลเมตรและต้นทุนการสร้างที่สายสีเขียวเอกชนลงทุนเอง ขณะสายสีน้ำเงินรัฐบาลลงทุนร่วมกับเอกชน  เหล่านี้เป็นต้น

ด้วยความเคารพในบทบาท และเจตนารมขององค์กรผู้บริโภคมาโดยตลอด ในขณะที่สนามการเมืองกรุงเทพฯเริ่มขยับ มีการเปิดเผย ว่าที่ผู้สมัครแข่งขันผู้ว่าการกรุงเทพมหานครแล้ว และแน่นอนว่า คงไม่มีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง  ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันลงแข่งอย่างแน่นอน การเคลื่อนไหวขององค์กรผู้บริโภคจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับสนามร้อนทางการเมืองในกทม.นี้ หรือว่าอย่างไร?