ชัดเจนแล้วนะ!! อดีตอัยการอาวุโส งัดข้อกม. ชี้ชัด “ถาวร-พุทธิพงษ์” ได้รับการคุ้มครองจากรธน. ไม่ต้องหลุดตำแหน่งส.ส. ตามกฎหมาย

3219

หลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีชุมนุมของกปปส. ให้ลงโทษจำคุกจำเลยหลายคนซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยลงโทษจำคุก นายชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน , นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี ,นายอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน ,นายถาวร เสนเนียม 5 ปี ,นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน ทั้งนี้ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล จุลใส นายอิสระ สมชัย และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ถูกให้พ้นจากสภาพส.ส.

ต่อมาทางด้านกกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของแกนนำกปปส. ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเช่นนี้ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของ “นายนวัธ เตาะเจริญสุข” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง

หลังจากที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตนายนวัธ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา นายนวัธ จึงเป็นบุคคลถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) และสิ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

ล่าสุดนายวีระชัย คล้ายทอง อดีตอัยการอาวุโส ได้เปิดเผยว่า จากการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีนายนวัธ หากจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร แล้ว นักวิชาการ อัยการ ผู้พิพากษา และตุลาการทั้งหลายมีความเห็นแตกต่างกันออกเป็นสองแนวทาง คือ

1. แนวทางแรก มีความเห็นว่า กรณีที่นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้ลงโทษจำคุกและถูกขุมขังไว้ ตั้งแต่วันที่ 24 -26 ก.พ. 2564 ระหว่างรอการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นกรณีต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) เช่นเดียวกับ นายนวัธ แล้ว จึงส่งผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับกรณีของนายนวัธ ความเห็นในแนวทางนี้จะพิจารณาข้อเท็จจริงจากการถูกคุมขัง โดยไม่ได้พิจารณาจากบริบทด้านอื่น ๆ ประกอบ จึงเป็นการตีความกฎหมายอย่างแคบซึ่งไม่เป็นคุณกับจำเลย

2. แนวทางที่สอง มีความเห็นว่า แม้การถูกคุมขังจะเกิดขึ้นแล้ว แต่นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ยังไม่พ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างบางมาตรา ได้ดังต่อไปนี้

– รัฐธรรมนูญ มาตรา 25บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้” เมื่อพิจารณาประกอบ มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

กอปรกับวรรคสาม ได้บัญญัติว่า “การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” กรณี นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2564 จึงต้องถือเป็นเพียงกระบวนการควบคุมตัวไว้ระหว่างรอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น มิอาจถือได้ว่า เป็นการถูกนำตัวไปคุมขังเพื่อบังคับโทษทางอาญา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา98 (6) แต่อย่างใด

– รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร นั้น ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุคคลทั้งสองมิได้มีคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว

– การนัดฟังคำพิพากษา ศาลอาญาได้ทราบผลของคำพิพากษาอยู่ก่อนแล้ว ย่อมคาดหมายได้ว่า การอ่านคำพิพากษาต้องกระทบสิทธิและเสรีภาพของนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลอาญาควรเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปจนพ้นสมัยประชุม แต่ศาลอาญากลับอ่านคำพิพากษาตามนัด ส่งผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องถูกคุมขังในวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2564

ทำให้บุคคลทั้งสองไม่สามารถเข้าประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา (1) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) และ (2) ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ… ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ การคุมขังจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการคุมขังดังกล่าวแม้จะได้เกิดขึ้นจริง จึงไม่มีผลให้นายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร