บสย.อัด 3 หมื่นล้าน!?! อุ้มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว-กลุ่มเอ็นพีแอลที่ธุรกิจยังไปได้ คาดพยุงจ้างงานกว่า 180,000 ราย

1364

บสย.ลุยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs ต่อเนื่อง  รวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท เปิดตัวโครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” กระตุ้นปล่อยสินเชื่อช่วย SMEs กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท คาดสร้างสินเชื่อหมุนเวียนในระบบ 15,000 ล้านบาท พยุงการจ้างงาน 180,000 ราย ต่อเนื่องด้วย อีกโครงการหนึ่งวงเงิน 20,000 ล้านบาทช่วยSMEs ที่เป็นหนี้เสียแล้ว แต่ยังมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้

วันที่ 3 มี.ค.2564 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2563 รายได้ลดลงเหลือ 8 แสนล้านบาท ลดลง 72.8% จากปี 2562 มีรายได้ 2.99 ล้านล้านบาท

ขณะที่ปีนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยังถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอน บสย. จึงเร่งจัดสรรวงเงินค้ำประกันเพื่อดำเนินโครงการเฟส 2 เปิดตัวโครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท และระยะเวลาค้ำประกันสูงถึง 10 ปี

“โครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 คาดว่าจะสร้างสินเชื่อในระบบไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 180,000 ราย โครงการนี้ยังสนับสนุนธนาคารให้พิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยอัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชย สูงถึง 35% ซึ่งถือเป็นการชดเชยความเสียหายในอัตราสูงที่สุดของโครงการค้ำประกัน บสย.”นายรักษ์กล่าว

เมื่อเดือนมกราคม 2564 บสย.ได้ดำเนินโครงการ บสย.SMEs ไทยสู้ภัยโควิด1 วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยื่นขอสินเชื่อเต็มวงเงิน มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเข้าถึงโครงการค้ำประกันเพียง 10% ดังนั้น โครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 จึงเน้นดูแลผุ้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง

“โครงการนี้ยังสนับสนุนให้ธนาคารทั้ง 18 แห่ง ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นธนาคารพาณิชย์ ที่เหลือเป็นธนาคารของรัฐ สามารถพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยอัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชย (Max Claim) สูงถึง 35% ซึ่งถือเป็นการชดเชยความเสียหายในอัตราสูงที่สุดของโครงการค้ำประกัน บสย.” นายรักษ์ย้ำ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง สามารถรับคำขอในโครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” ได้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564

นอกจากนี้ ช่วงเดือนเมษายน บสย. เตรียมออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ค้างชำระค่างวดไม่เกิน 3 เดือน และ ธุรกิจที่ค้างชำระจนเป็นหนี้เสีย ค้างไม่เกิน 2 ปี โดยให้อัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชยที่ 40% คาดใช้วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องมาจาก โครงการสร้างไทย1 ของ บสย. ในช่วงต้นปี 2563 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจได้

ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียทั้งระบบ มีมูลหนี้ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจได้ ประมาณ 60-70% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยโครงการ สร้างไทย 1 ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้ประมาณ 98% ของลูกค้าทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ