จากประเด็น เรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งนับตั้งแต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มอพยพกลับในจุดที่เรียกว่าบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อยู่ในป่าแก่งกระจาน แล้วเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ชาวบ้านกลับมา นั้น
ต่อมา ทางด้าน นายนภันต์ เสวิกุล ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา ช่างภาพผู้ถวายงานการบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงปัญหาบางกลอยว่า กรณีชาวบ้านบางกลอยที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ผมมาติดตามข่าวเอาเมื่อเขาฮือฮา กลายเป็นการประท้วงและเป็นโศกนาฏกรรมไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเกมการเมืองที่ “ให้ตาย ชาวบ้านก็ไม่มีทางชนะ” (นี่ผมเข้าบ้างชาวบ้านนะ) 1.ชาวบ้านไปเดินตาม NGO ที่มีผู้ “รู้ทัน” เยอะ 2.ชาวบ้านมาประท้วง และเดินตามกลุ่มที่ชูสามนิ้ว (หรือเทือก ๆ นั้น) ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเขาไม่เอาด้วย 3.ข้อเรียกร้องของชาวบางกลอย เว่อร์วังอลังการณ์ เช่นขอที่ดิน 15 ไร่ หมุนเวียนทุกรอบเท่านั้นเท่านี้ปี (แลัวก็ออกตัวไว้ก่อนว่า “ไม่ต้องให้สิทธิดังกล่าวนี้กับชาติพันธุ์เผ่าอื่น ๆ “) ผมแค่คนไทยเต็มขั้นคนหนึ่งยังอยากถามเลย ว่า “คิดว่าตัวเองเป็นใคร?”
กลับไปค่อย ๆ พิจารณาอีกทีว่า ไปกินหัวใจหมีดีมังกรมาจากไหนถึงได้เรียกร้องเอานั่นเอานี่ (ไอ้ที่เขาให้ก็ไม่เอา) อ้อ นอกจาก NGO และ PMove แล้ว ยังมีกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รายสุดท้ายนี่อาจจะเป็นผู้ถีบชาวบ้านให้ออกมายืนเด่นอยู่แถวหน้าด้วยซ้ำ (ตามความถนัดของพรรค)
ผมฟังคุณอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดอยู่ครึ่งชั่วโมง อพิโธ่เอ๋ย ตัวเองก็ไม่ได้รู้อะไรนักหนาได้แต่เอ่ยวาจาเป็นแผ่นเสียงตกร่อง “ต้องคำนึงถึงสิทธิของชาวบ้านบางกลอย” “ทุก ๆ ฝ่าย (พูดประมาณ 50 ครั้ง) ต้องหาข้อยุติและสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอย เพื่อที่ต่อไปจะได้เป็นต้นแบบในการปฏิบัติต่อชุมชนชาติพันธุ์อีก สามพันกว่าชุมชน”
ฟังปุ๊บ ต่อได้เป็นฉากเลย เพราะมันประสานกับช่วงหาเสียงที่ภาคใต้ของพรรคเดิมของพรรคที่คุณอภิชาติสังกัดอยู่ ที่จะสนับสนุนให้สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ และ “กี่สิบปีแล้วที่ชาวเขาในภาคเหนือไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำกิน ถ้าพรรคได้รับเลือกจะออกโฉนดให้ทุกชุมชุน ทุกหมู่บ้าน” บรา บรา บรา
ผมเข้าบ้างชาวบ้านบางกลอยนะครับ ให้ได้รับทางออกที่ดีที่สุด แต่พูดจาดี ๆ กับรัฐเถอะ และอย่าไปเดินตามใคร ทุกกลุ่มที่จูงชาวบ้านเดินตามอยู่นั้นทั้งลาย ทั้งหาง เพ่นพ่านไปหมด
จากประเด็นที่นายนภันต์ ได้โพสต์เอาไว้นั้น ทำให้ลองย้อนดูจึงพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยในวันที่ 15 มี.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็เป็นอีกคนที่เดินทางไปร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอย ขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า คนกะเหรี่ยงบางกลอยเขาอยู่ในพื้นที่มานานก่อนที่จะมีกฎหมาย ก่อนที่จะมีอุทยานเสียอีก นั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน และกฎหมายมีความล้าหลัง เขาบอกว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ป่าใดที่มีชุมชนก็จะเป็นป่าที่ยั่งยืน ป่าใดที่ไม่มีชุมชนก็มักจะเป็นป่าที่ไม่ยั่งยืน ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้ยาก ที่เขาบอกว่าการไม่รับบันทึกความเข้าใจ เพราะบันทึกความเข้าใจไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ต้องการให้เกิดความหนักแน่นจากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่มีเพียงแค่ลมปาก คิดจะฉีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เขาต้องการให้มีการรับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี และต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อผิดพลาด ต้องการให้หยุดดำเนินคดีกับทุกคนในทุกคดี และหยุดคุกคามในทุกกรณี
มาในส่วนของ อีกหนึ่งนางงามที่ออกมาเคลื่อนไหวม็อบสามนิ้ว อย่างนางสาวชญาธนุส ศรทัตต์ หรือเฌอเอม อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020 ที่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 เจ้าตัวก็ไปร่วมชุมนุมกับ กลุ่มพีมูฟ หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรม #Saveบางกลอย ในหัวข้อ “เมื่อประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญ” ในวันดังกล่าวเจ้าตัวก็ได้กล่าวว่า กรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน หากชาวบ้านกลับไปถื่นเดิมได้คงไม่เกิดปัญหา ชาวบ้านมีสิทธิเลือกว่าจะใช้ชีวิตในแบบใด ก่อนเกิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรล่าสุด ในอดีตก็เคยมียุทธการตะนาวศรีในปี 2553 ซึ่งสะท้อนถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ชาวบ้านถูกจับ ไล่ที่ เผาบ้านเรือนและยุ้งฉาง นับเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ทรัพย์สิน แต่คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ เน้นหนักการให้ความสำคัญวัฒนธรรมภาคกลาง ไม่เห็นประวัติศาสตร์ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งภาพลักษณ์กลายเป็นคนถางทำลายป่า ค้ายา หนีอำนาจรัฐ ประเด็นการทำไร่หมุนเวียน จริง ๆ แล้วไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย หรือแม้แต่ไร่เลื่อนลอยก็สร้างผลกระทบน้อยกว่าไร่อุตสาหกรรมและการให้สัมปทานเหมืองต่าง ๆ รัฐไม่อาจเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของเขาได้
และอีกหนึ่งคนที่ไม่พลาดต้องออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ คือ นางสาวอินทิรา เจริญปุระ หรือทราย กล่าวปราศรัยว่า โดยเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพีมูฟ หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กิจกรรม อยากกลับบ้านไหม…คนบางกลอยไม่มีบ้านให้กลับ
โดย นางสาวอินทิรา กล่าวว่า ตนรู้จักบางกลอยจากกรณีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ รู้ว่ามีคนออกมาเรียกร้อง แต่กลับถูกอุ้มหาย กลายเป็นศพ ทว่า ทุกคนก็ยังสู้ รัฐไม่มีสิทธิบังคับให้คนใช้ชีวิตอย่างที่รัฐต้องการ และเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้ยอมแพ้
ในวันดังกล่าวนั้นทรายอ่านบทกวี “หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน” ของ ยังดี วจีจันทร์ โดยทรายคัด 2 บทสุดท้ายมาอ่าน ว่า “แต่คนที่ผิดหวังแล้วยังสู้ ก็คือผู้ที่โลกพร้อมจะยอมให้ ไม่ใช่คนแปลกประหลาดประการใด และมิใช่มีแต่กลุ้มสุมกมล จริงอยู่ว่าบางครั้งยังเหว่หว้า จริงอยู่หลั่งน้ำตามาหลายหน แต่ไม่จริงที่ว่าประชาชน จะมีเพียงสองคนบนดวงดาว”
“พี่น้องบางกลอยชวนทรายขึ้นไปกินข้าวร่วมกันนะคะ วันหนึ่งเราจะไปให้ถึงใจแผ่นดินด้วยกัน ชาติพันธุ์ก็คือคน พวกเราทุกคนคือคน” ทรายกล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่ากลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกิจกรรมเซฟบางกลอยนั้น ก็คือกลุ่มคนที่ออกร่วมม็อบทั้งนั้น