ปัญหาเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ?!? ทำส่งออกไทยหวั่นต้นทุนเพิ่มสูง นายกฯเผยพร้อมช่วยทุกทาง มั่นใจกระทบระยะสั้น!

1846

กรณีเรือสินค้าเอเวอร์กีฟเว่น (Ever Given) เจ้าของเป็นบริษัทญี่ปุ่นคือ บริษัท โชเอ ไคเซ็น แต่ดำเนินการโดยบริษัทไต้หวันชื่อ บริษัท เอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด  เกยตื้นขวางคลองสุเอซประเทศอียิปต์เพราะพายุทราย และติดแหง็กขวางคลองอยู่มานาน 1 สัปดาห์แล้ว ทำวงการค้าขายปั่นป่วนกันไปทั้งโลก โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรป สภาผู้ส่งออกฯไทยหวั่นส่งมอบสินค้าช้า-ค่าระวางเรือพุ่งจาก 4 พันทะลุ 5 พันเหรียญสหรัฐต่อตู้ ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์  ครั้งนี้อุตฯยานยนต์พากันร้องโอดโอยว่า กระทบส่งออกรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ส่วนกระทรวงพลังงานประสานเสียงกลุ่มโรงกลั่น-ปตท.-ซัสโก้ ยันไม่กระทบการขนส่งก๊าซ LNG-LPG-น้ำมัน

หลายฝ่ายพยายามแก้ปัญหาวิกฤติเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซแต่ก็ยังไม่บรรลุผล ล่าสุดสำนักข่าวเอบีซีรายงานเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2564 อ้างถ้อยแถลงผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า สหรัฐฯ เสนอให้ความช่วยเหลือแก่อียิปต์ เพื่อแก้ไขปัญหาเรือขนส่งสินค้า Ever Given เกยตื้นขวางคลองสุเอซ ตั้งแต่ 23 มี.ค.2564 หลังจากสูญเสียการควบคุมในช่วงเกิดพายุทราย ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขนส่งสินค้าและพลังงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชียและยุโรป กรณีนี้วารสารลอยด์ลิสต์(Lloyd’s List) ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำด้านข้อมูลการขนส่งทางทะเล ประเมินว่า อาจสร้างความเสียหายทางการค้ากว่า 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ประมาณ 298,368 ล้านบาท)

สำหรับประเทศไทย ก็วิตกกังวลกันอย่างมากว่า จะมีผลกระทบกับการส่งออกและการขนส่งพลังงานมากน้อยอย่างไร? ท่านนายกฯไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งตรวจความพร้อมแก้ปัญหาเรือเกยคลองซูเอส และคาดว่าจะไม่กระทบระยะยาว ส่วนด้านพลังงานไม่กังวล หลายประเทศหาทางออกร่วมกันหากกระทบก็เป็นระยะสั้น ซึ่งไทยเราก็ไม่ประมาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ เมื่อ 23 มี.ค. ที่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เอเวอร์กีพเว่น (Ever Given) เกยตื้นขวางคลองซูเอส ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญของโลก เสมือนทางลัดเชื่อมเอเซียกับยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของสินค้าไทย ทำให้มีเรือบรรทุกสินค้าลำอื่น ติดอยู่กว่า 300 ลำ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบและหามาตรการทางออกให้แก่ผู้ประกอบการไทย 

เรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า  ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศเตรียมพร้อมการประสานงานกับผู้นำเข้าและส่งออกเรื่องขอขยายเวลาการส่งสินค้า รวมถึงดูแลผู้ส่งออกหากพิจารณาเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งไปเป็นเส้น    แหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกาสู่ยุโรปแทน เพื่อให้สามารถส่งสินค้าไปได้ ซึ่งจะมีต้นทุนเพิ่มและใช้เวลานานขึ้นโดยประมาณ10 วัน อีกทั้ง มอบหมายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นศูนย์กลางในการประสานงานเรื่องที่จะต้องมีการหารือในข้อกังวลต่างๆของภาคเอกชนต่อไป

ส่วนด้านพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินว่าจะไม่กระทบต่ออุปทานพลังงานของประเทศไทยทั้งน้ำมันก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ต้องขนส่งผ่านเส้นทางนี้มีไม่สูงนัก และผู้ประกอบการได้บริหารจัดการปรับเส้นทางการขนส่งทางเรือไปใช้เส้นทางอื่นแล้ว  และไม่ต้องวิตกกังวลปัญหาขาดแคลนน้ำมัน เพราะมีการนำเข้าจากหลายแหล่งผลิต อีกทั้งผู้ประกอบการมีการสต๊อกน้ำมันไว้เพียงพอ เป็นไปตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไม่นิ่งนอนใจต่อความกังวลของผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้ แต่จากการติดตามข้อมูล คาดว่าจะไม่กระทบในระยะยาวเพราะทางบริษัทเจ้าของเรือและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเพื่อแก้ปัญหาอยู่ทั้งการเคลื่อนเรือและลดน้ำหนักเรือด้วยการยกตู้คอนเทนเนอร์ออก หากภาคเอกชนมีข้อติดขัดในเรื่องใด รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ ดังเช่นที่ผ่านมาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งนายกฯได้เร่งรัดให้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบ อำนวยความสะดวกแก้ผู้ประกอบการ จนปัญหาคลี่คลายแล้ว

กระนั้นทางภาคเอกชนก็ยังมีความกังวลผลกระทบ ซ้ำเติมปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งแม้ปัญหาจะคลี่คลายลงบ้างแต่ก็ยังไม่ได้หมดไป

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท. หรือสภาผู้ส่งออก) เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกกังวลว่าการกู้เรืออาจใช้เวลานานกว่าที่คาด หากเป็นเช่นนั้นการขนส่งทางเรือในเส้นทางดังกล่าวจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นเส้นทางระยะสั้นที่สุดที่ส่งไปตลาดยุโรป

แม้อาจปรับโดยอ้อมไปใช้เส้นทางแอฟริกาได้แต่จะใช้ระยะเวลานานขึ้น 10-15 วัน จากปกติผ่านคลองสุเอซใช้เวลา 26-30 วัน อาจเพิ่มเป็น 45 วัน

“หากจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ปัญหาไม่ได้คลี่คลาย การจองรอบการส่งออกหรือ booking มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางยุโรป สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต ราคา 4,000 เหรียญสหรัฐ เทียบกับเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาค่าระวางอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากโควิด-19 จากกรณีนี้มีโอกาสค่าระวางจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต”

นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบทำให้ระยะเวลาในการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมายังประเทศต้นทางยาวนานขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจดีขึ้น การส่งออก-นำเข้ามีมากขึ้น ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ก็จะมีมากขึ้นไปด้วย  จะทำให้ค่าระวางมีโอกาสที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก ผู้ส่งออกต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ว่าจะมีวิธีการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกได้บ้าง

กรมส่งเสริมการค้าฯกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มั่นใจว่่า ปัญหาจะกระทบระยะสั้น เพราะทุกฝ่ายเดือดร้อยและพยายามหาทางแก้ไขอย่างเร็วที่สุด

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ระหว่างนี้ผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้เส้นทางเรือดังกล่าว อาจต้องปรับการขนส่งหรือเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง เพื่อให้สามารถส่งสินค้าไปได้ อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบในระยะยาว

สำหรับภาพการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (15 ประเทศ)ของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 1,800 ล้านเหรีญสหรัฐ กลับมาขยายตัว 0.2% เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ส่วนยอดส่งออกสะสม 2 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 3,537 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.7% ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวในต้นปีนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแปลงไฟฟ้า ยางพารา และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น