สหรัฐ-ยูเอ็นสั่งโลกคว่ำบาตรเมียนมา?!? กระทบบ.น้ำมันยักษ์โลกและปตท. ทำผวาถ้าทิ้งเมียนมา เปิดทางจีน-รัสเซียเสียบ??

2933

จะทำอย่างไรเมื่อยูเอ็นดันคว่ำบาตรเมียนมา? เป็นคำถามที่ทำให้นายทุนผวามากกว่าประชาชนไทย เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล  สิ่งที่ประชาชนจะห่วงเป็นเรื่อง การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังแค่มีความหวังว่าฉีดวัคซีนแล้วคงดีขึ้น ก็ดีขึ้นจริงเพราะสถานการณ์ทั่วโลกทรงตัว มีตัวเลขลดลงแต่ก็ยังไม่หยุด เพราะมีการกลายพันธ์ุและในหลายพื้นที่ มีปัญหาการเข้าถึงวัคซีน สิ่งที่น่าจับตามองคือแนวทางของบริษัทน้ำมันระดับโลกรวมถึงบริษัท ปตท.ฯที่กำลังจับมือกับเมียนมาขายน้ำมันกันรวยอู้ฟู่ เพราะช่วงนี้ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด เป็นเพราะเหตุใด เรามาติดตามกัน

วันที่ 9 มี.ค.2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน การจับตามองแนวทางของบริษัทน้ำมันรายใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินการอยู่ในเมียนมาหลังจากที่องค์การสหประชาชาติ (UN) และปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ เรียกร้องให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) โดยระบุว่าเป็นบริษัทของรัฐบาลทหารเมียนมาและเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวของรัฐบาล

หนึ่งในนั้นรวมถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการใหญ่ 3 โครงการในประเทศเมียนมา นอกจากนี้ประเทศไทยนำเข้าก๊าซจากเมียนมาคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการนำเข้าก๊าซทั้งหมดประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยปตท.สผ. ร่วมมือกับTotal, Chevron and MOGE ในโครงการยาดานาตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งรอยเตอร์สประมาณการณ์ว่าปตท.สผ. ลงทุนราว 640 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2015-2019 โดยประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐตกเป็นของ MOGE

นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนการถือครองหุ้น 19.3% ในโครงการเยตากุน (แปลง M12, M13 และ M14) ซึ่งผลิตก๊าซมาตั้งแต่ปี 2000 ร่วมกับ Petronas ของมาเลเซียซึ่งถือหุ้น 40.91%, Nippon Oil ของญี่ปุ่นถือหุ้น 19.32% และ MOGE ถือหุ้น 20.45%

รวมถึงถือหุ้น 80% ในโครงการซอติก้า (M9) ซึ่งผลิตก๊าซมาตั้งแต่ปี 2003 ขณะที่ MOGE ถือครอง 20% ที่เหลือ

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ถือครอง 100% ในโครงการแปลง M11, 80% ในแปลง M-3 และ 50% ในแปลง MD-7

ปตท.สผ. ยังวางแผนพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในเมียนมา

ตามรายงานของรอยเตอร์สระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมา ปตท.สผ. กล่าวว่าการดำเนินงานยังคงเป็นไปตามปกติ

ทั้งนี้ ยังมีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ระดับโลกอีกหลายรายที่ร่วมมือกับ MOGE อาทิ TOTAL จากฝรั่งเศสซึ่งมีบทบาทสำคัญในเมียนมาตั้งแต่ปี 1992 ได้กล่าวว่า กำลังติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานซึ่งมีจำนวนกว่า 200 คนในเมียนมา เช่นเดียวกับบริษัท WOODSIDE PETROLEUM จากออสเตรเลียซึ่งกล่าวว่ากำลังลดการดำเนินการในเมียนมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง

นอกจากนี้ยังมี CHEVRON, SHELL และอื่นๆ ที่ร่วมลงทุนในโครงการประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน

ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันกำลังพุ่ง และมีแนวโน้มสดใส ใครจะคิดวางมือ ปีที่แล้ว บริษัทเชฟรอนสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ก็เกือบเอาตัวไม่รอด หวิดล้มละลายเพราะราคาน้ำมันดิ่งต่อเนื่องด้วยฤทธิ์การระบาดโควิด-19 มาวันนี้ราคาน้ำมันอู้ฟู่อีกครั้ง ก็ไม่ต้องเดาว่าเชฟรอน หรือปตท.สพของไทยจะเลือกทางไหน?

มาดูสถานการณ์รอบโลกที่เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันกลับมาสดใสเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ซาอุดิอาระเบียแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่สำคัญของโลก

 

ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนมีนาคมมา ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุมาจากประเทศผู้ส่งออกลดปริมาณการผลิตต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน และล่าสุด ประเทศซาอุดีอาระเบียที่เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยมีศักยภาพในการผลิตรวมกว่า 2.6 แสนล้านบาร์เรล หรือกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณรวมของทั้งโลกได้ถูกโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

ซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า หนึ่งในโรงงานผลิตน้ำมันที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดในโลกถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธจากกลุ่มกบฏ ‘ฮูตี’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563

การโจมตีดังกล่าวถือเป็นการโจมตีที่ร้ายแรงที่สุดต่อโรงงานน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย นับตั้งแต่โรงงานแปรรูปน้ำมันทั้ง 2 แห่งที่เคยโดนโจมตีเมื่อเดือนกันยายน 2019 ทำให้การผลิตลดลงเป็นเวลาหลายวัน และส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันหายไปถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก ซึ่งวิกฤตดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันดิบเบรนท์ทะยานกว่า 19% แตะที่ 71.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียนได้รายงานว่าโดรนโจมตีท่าเรือน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและขีปนาวุธยิงสู่เป้าหมายที่โรงงานพลังงานยักษ์ใหญ่อารามโค (Aramco) ทางตะวันออกของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา

เกิดการโจมโรงเก็บน้ำมันปิโตรเลียมที่ท่าเรือราส ทานูรา (Ras Tanura) ขณะที่ขีปนาวุธยิงตกใกล้เขตที่ตั้งของอารามโค (Aramco) ในเมืองดาห์ราน (Dhahran)

แปลกที่การโจมตีทั้งสองครั้ง ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียยืนยัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าโมเมนตัมดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น และเป็นเซนติเมนต์บวกต่อหุ้นพลังงาน เนื่องจากการโจมตีไม่ได้ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินขณะที่การผลิตน้ำมันยังไม่ได้รับผลกระทบ

เนื่องจาก ‘Ras Tanura’ คลังน้ำมันที่ถูกโจมตีเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถส่งออกได้ประมาณ 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเกือบ 7% ของความต้องการน้ำมัน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด โดยท่าเรือนี้มีฟาร์มถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่เก็บน้ำมันดิบไว้ก่อนที่จะถูกสูบไปยังเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่

ทั้งนี้ โดยราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ (5 มี.ค. 2564) ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 3.9% มาที่ 69.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐฯ และจีน อีกทั้ง OPEC+ มีมติยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนเมษายน โดยยังปรับคงการลดกำลังการผลิตที่ 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน