นายกฯชูพลังผู้หญิงขับเคลื่อนไทยทุกด้าน!?! ปลื้มอสม.กองหน้าสาธารณสุขสู้โควิด ซีอีโอหญิงอันดับ 3 ของโลก

1333

วันสตรีสากล (International Women’s Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่สหประชาชาติ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งวันดังกล่าวมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ประเทศไทยมีการพัฒนาบทบาทของสตรีอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะในสังคมไทยมีความยืดหยุ่นและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างดี  ปีนี้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เชิดชูบทบาทของสตรีไทยในทุกมิติ ที่ได้ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการระบาดใหญ่ไวรัสโควิด-19  ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และมั่นใจว่าจะเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของผู้หญิงว่า เป็นผู้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมากในทุกๆด้าน หากจะเปรียบเป็นช้าง ผู้หญิงก็เสมือนช้างเท้าหน้าข้างหนึ่งทีก้าวไปข้างหน้าคู่กับผู้ชายซึ่งเป็นเท้าอีกข้างหนึ่ง เป็นกำลังหลักในการหารายได้สู่ครอบครัว เป็นแม่ผู้ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน และดูแลงานบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นบทบาทที่หนักและใช้ความทุ่มเทสูงมาก จึงอยากให้คนในสังคม  องค์กรตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น การกำหนดระเบียบหรือข้อปฏิบัติจะได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ทั้งเรื่องการดูแลครอบครัวและการทำงาน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงไทยเป็นที่กล่าวถึงในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่ครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ    

บทบาทผู้หญิงในการทำงานเป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) องค์กรภาคประชาสังคมด้านสตรีและเด็ก ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายช่วยงานภาครัฐอย่างมากในการเข้าไปดูแลประชาชนให้ปลอดภัยและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19

ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เรายังได้เห็นบทบาทผู้หญิงในฐานะทหารพรานทั้งจากกองทัพบกและกองทัพเรือ จำนวน 640 นาย ที่คอยปฎิบัติงานช่วยเหลือเด็กและสตรี ร่วมจัดตั้งจุดตรวจด่านตรวจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเยาวชน 

อย่างไรก็ตาม นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า “ยังคงมีปัญหาที่ฝังลึกในสังคมไทยอยู่ เรื่องทัศนคติหญิงด้อยกว่าชาย การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ  ได้กำหนด ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์ คือ

1)ให้คนไทยทุกคน มีความคิดที่ถูกต้องเรื่องความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ทุกเพศมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากัน 

2)พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม ยุติธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ 

3)ส่งเสริมผู้หญิงเข้ามีบทบาททางการเมือง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับต่างๆ และ 

4) เร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสตรีในทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาวะลำบาก เพื่อให้ผู้หญิงมีเสรีภาพและความมั่นคงในการดำเนินชีวิต โดยสามารถใช้พลังและศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ ให้ทุกๆวันเป็นวันของผู้หญิง”

ในขณะที่ผลสำรวจต่างชาติพบว่า ไทยมีสัดส่วน “ซีอีโอหญิง” มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน ซึ่งการยอมรับไม่ใช่เฉพาะบริษัทไทย แต่รวมถึงบริษัทข้ามชาติด้วย

ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการเมืองที่มีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้ว รวมถึงภาคราชการที่ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงมาต่อเนื่องทั้งปลัดกระทรวง อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงภาคประชาชนที่มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ออกเป็นแกนนำในการเรียกร้องประเด็นต่างๆ จึงทำให้ผู้หญิงในสังคมไทยมีบทบาทค่อนข้างสูงในการมีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย

ผลการสำรวจของแกรนท์ ธอนตัน ยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงมาก โดยผลการสำรวจเมื่อปี 2563 ที่ได้จากการสอบถามผู้บริหารระดับอาวุโสในบริษัทขนาดกลาง 5,000 แห่งจาก 30 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงสัดส่วน 32% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 27% และหากดูเฉพาะตำแหน่ง “ซีอีโอ” พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงอยู่ที่ 24% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 20% จึงทำให้ไทยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก