BTSเซ็นสัญญาส่วนต่อขยายสายสีชมพูแล้ว!?! ลงทุน 4,230 ลบ. ยันฟ้องคดีสายสีส้มตามสิทธิ์ ขณะผู้ว่ารฟม.แก้เกี้ยวไม่รู้ว่าฟ้องประเด็นใด

1715

เมื่อวานนี้ BTS ได้นำทีมลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯกับรฟม.โครงการ”รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย” ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 4,230 ล้านบาท โดยพร้อมลุยทันทีคาดสร้างเสร็จในปี 2567 ขณะกรณีล้มประมูลสายสีส้ม BTS ยืนยันเดินหน้าส่งทนายฟ้องร้องตามสิทธิ์ ศาลรับฟ้องแล้วและนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มี.ค.2564 นี้ ส่วนทางผู้ว่ารฟม.ว่า ยังไม่ทราบเรื่องว่าฟ้องประเด็นใด

 

เรามาติดตามเรื่องดีๆของรถไฟฟ้าสายสีชมพูกันก่อน

วันที่ 23 ก.พ.2564 ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และกลุ่ม BTS ในนาม NBM : บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ 

บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) นี้เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Venture ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ BTS บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) RATCH และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC เพื่อรับงานโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู แคราย-มีนบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินงาน และได้รับการอนุมัติร่วมทุนส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานีอีกด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายนี้ มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าเวรคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทางภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม 

สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรมีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

ทางด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น บริษัทจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 66 ราคา ตลอดเส้นทาง โดยค่าโดยสารจะจัดเก็บสูงสุดที่ไม่เกิน 42 บาท ซึ่งเป็นราคา ณ วันที่มีการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการ แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะต้องมีการพิจารณาราคาที่ลงนามฯ ประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในขณะนั้นอีกครั้ง   ส่วนปัญหาการคิดค่าแรกเข้านั้นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองมีข้อตกลงไม่จัดเก็บค่าแรกเข้า เนื่องจากในสัญญาระบุชัดเจนว่าจะไม่เก็บเรื่องของค่าแรกเข้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อเข้ามาในระบบ รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ยกเว้นกรณีรถไฟฟ้าระบบอื่น  จะเดินทางต่อเชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่บีทีเอส ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จะต้องมีการเจรจาเรื่องของค่าแรกเข้าอีกครั้งในอนาคตหากจะให้มีการปรับลงหรือยกเลิกค่าแรกเข้า

คราวนี้มาดูเรื่องรถไฟฟ้าสีส้มที่ส่อเค้าไม่ราบรื่นกัน

สำหรับกรณีการประมูลรถไฟฟ้าสีส้มที่เกิดข้อพิพาทระหว่างBTSC และรฟม.ดูท่าจะยังไม่จบง่ายเพราะ ก่อนหน้านี้คือว้นที่ 22 ก.พ.2564 BTSC  ได้ส่งทนายความผู้รับมอบอำนาจ ฟ้อง รฟม.ปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยยื่นฟ้องตามกฎหมายอาญา ม.157 และ ม.165 พร้อมกฎหมาย ป.ป.ช. 

แหล่งข่าวจากBTSC ระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องในกรณีดังกล่าว เพราะการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังเอกชนยื่นซองข้อเสนอแล้ว เป็นเรื่องมิชอบด้วยกฎหมาย

รวมทั้งก่อนหน้านี้ BTSC ยังได้ยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง โดยศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม.ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ที่แก้ไขไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นและในที่สุด รฟม.ตัดสินใจล้มประมูลไปทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุป

ในเรื่องการฟ้องร้องนี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน):BTSC กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขอให้เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาและชี้แจงข้อมูล โดยบริษัทฯ ได้มอบหมายให้ทนายเป็นผู้เข้ายื่นเอกสาร หลังจากนี้คงต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการศาล

แต่กรณีการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ทางกระทรวงคมนาคมและรฟม.ยืนยันว่ามีสิทธิ์ทำได้  โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การยกเลิกประมูลเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ข้อ 12.1 ที่บอกว่าสงวนสทธิ์ในการยกเลิกประมูล อีกทั้ง การยกเลิกประมูลก็ไม่ได้เป็นโครงการแรกที่กระทรวงฯ มีการดำเนินการ สามารถดำเนินการได้ 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า

“หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ รฟม.ในการรวบรวมหลักฐานไปชี้แจงต่อศาล โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ กำหนดฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะต้องเปิดให้บริการ ในปี 2567 และฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ เปิดในปี 2569”

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการดำเนินการล้มประมูลเป็นอำนาจที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 ทำได้ เพราะเป็นข้อสงวนไว้ในทีโออาร์การประกวดราคาอยู่แล้ว ทั้งนี้ หลังจากที่มีการล้มประมูลคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา รฟม.ได้แจ้งยกเลิกและคืนหลักประกันผู้ยื่นซองข้อเสนอแล้ว

รวมทั้งได้ถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองเรียบร้อยแล้ว กระบวนการหลังจากนี้ ภายในเดือน ก.พ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง และภายในเดือน มี.ค.2564 จะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพื่อเปิดประมูลต่อไป

นั่นคือ รฟม.ยืนยันจะเดินหน้าต่อให้ได้แม้จะถูกฟ้องร้องจากเอกชน ทำเสียหายเพราะล้มประมูล คงจะต้องติดตามต่อไปว่า “การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจะลงเอยแบบไหน -ใครจะเป็นผู้ได้รับสัมปทานในที่สุด”