เมียนมาไม่พ้นมิคสัญญี?!? ม็อบพม่าชังทหาร เปิดบ้านเชิญต่างชาติทำลายกองทัพ สหรัฐ-พันธมิตรคำราม ปราบหนักเจอลุย!

1837

สงครามร้อนลงถนนของเมียนมาระอุเดือด เพิ่มอุณหภูมิการเมืองร้อนมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ขณะที่สหรัฐและชาติตะวันตก เดินหน้ากดดันเป็นระยะ ล่าสุดกลุ่มพันธมิตรต้านจีน QUAD ที่นำโดยสหรัฐได้ประชุมร่วมกันและประกาศจะเร่งใช้มาตรการสูงสุดกับเมียนมา เมื่อกองทัพใช้กำลังปราบปรามม็อบต้าน ขณะที่ม็อบพม่าและนักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีของซูจี ประกาศยินดีและยุให้สหรัฐ-พันธมิตรถล่มกองทัพเมียนมา ดูเหมือนภาพฉายซ้ำของม็อบชังชาติฮ่องกงและไทยไม่มีผิด ยิ่งเพิ่มอุณภูมิร้อนในเมียนมาให้เคร่งเครียดสูงขึ้น เพราะท่าทีของกองทัพเมียนมา ดูจะไม่ประณีประณอมกับกลุ่มต้าน ปฎิบัติการเด็ดขาด ใช้กฎหมายกวาดจับแกนนำ และใช้ตำรวจปราบจราจลจัดการม็อบ เมื่อม็อบได้ใจที่ต่างชาติประกาศหนุนเช่นนี้ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะสูญเสียที่จะเกิดขึ้น นั่นหมายถึงแผ่นดินเมียนมาจะร้อนด้วยไฟสงครามภายในบ้าน ที่ยากจะคาดเดาผลที่ตามมา

ก่อนอื่นมาดูกันว่า QUAD มาเกี่ยวอะไรกับเมียนมา?

พันธมิตร QUAD เป็นการรวมกลุ่มของ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ในการงัดข้อกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พร้อมเผชิญหน้ากับจีนทุกรูปแบบโดยเฉพาะทางด้านการทหาร  หลังประชุมกันได้ลงมติเห็นพ้องที่จะต้องนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว และคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อความพยายามใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียวในการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเมียนมาโดยใช้กำลัง นี่คือท่าทีล่าสุดของแก๊งพันธมิตรต้านจีน ที่ประกาศเดินหน้ามาตรการขั้นสูงต่อไปกับเมียนมาภายใต้การนำของรัฐบาลเฉพาะกาลที่ กองทัพหนุนหลัง นั่นคือการขู่ใช้กำลังทหารจัดการประเทศที่ไม่สยบตามคำสั่ง เพราะก่อนหน้านี้ได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไปหมดแล้ว

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 ก.พ. 2564 จากการเปิดเผยของนายโทชิมิตสึ โมเตงิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น หลังมีการหารือผ่านระบบประชุมทางไกลกับนายแอนโทนี บลิงเคนรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ นายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย และนางมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย

พวกเขาต่างเห็นพ้อง 3 ประการด้วยกันคือ 

  1. คัดค้านอย่างหนักแน่นต่อความพยายามแต่เพียงฝ่ายเดียวในเชิงบีบบังคับเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกซึ่งจีนได้ทำกิจกรรมทางทะเล

2.พวกเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นอีกกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน, กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศยุโรป

  1. พวกเขาได้เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว หลังจากเกิดการยึดอำนาจของกองทัพเมื่อไม่นานมานี้

คำประกาศเหล่านี้สะท้อนชัดว่า QUAD พร้อมยกระดับเปิดหน้าชนจีนในอาเซียน ทะเลจีนใต้โดยอาศัยเงื่อนไขปัญหาในเมียนมาสร้างความชอบธรรม เช่นนี้คนไทยจึงต้องติดตามอย่างไม่คลาดสายตา

เพราะพันธมิตรQUAD ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มเฉพาะด้านการเมือง-การทูต-เศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการรวมกลุ่มความร่วมมือทางด้านทหารมุ่งเน้นพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงในเขตอินโด-แปซิฟิก มีสถานะเช่นเดียวกับ NATO: North Atlantic Treaty Organization; หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งQUAD ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Mini Nato นั่นเอง

เมื่อวันศุกร์ที่ 19ก.พ.2564 สหรัฐฯเรียกร้องกองทัพพม่าอดทนอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรงใดๆ และยอมสละอำนาจหลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายเซ่นประท้วงต่อต้านยึดอำนาจ

เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า”เราประณามการใช้ความรุนแรงใดๆกับประชาชนชาวพม่า และเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราต่อกองทัพพม่า ให้อดทนอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรงใดๆกับบรรดาผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติ”  เขาระบุต่อว่า “สหรัฐฯจะยังคงเป็นแกนนำในความพยายามทางการทูต หล่อหลอมประชาคมนาชาติให้ร่วมกันดำเนินการกับพวกที่ต้องรับผิดชอบการรัฐประหารในครั้งนี้”

 

แรงกดดันจากประชาคมโลกถาโถมเข้าใส่ผู้ปกครองทหารเมียนมามากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงออกมาชุมนุมต่อต้านการก่อรัฐประหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว ก่อนหน้านี้อังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมเมียนมา และแคนาดาต่างประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพเมียนมา โดยอังกฤษประกาศยึดทรัพย์และห้ามการเดินทางต่อนายพลเมียนมา 3 นาย โทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากการมีบทบาทในกองกำลังรักษาความมั่นคงของกองทัพเมียนมา ประกอบด้วย พล.อ.เมี๊ยะทุนอู รมว.กห. พล.ท.โซทุ รมว.มท.และ พล.ท.ตานไหลง์ รมช.มท. นอกจากนี้ อังกฤษยังกำลังพิจารณาที่จะยุติการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาในด้านต่างๆ อีกด้วย

ส่วนแคนาดาประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมารวม 9 นาย และกล่าวหาผู้ปกครองทหารว่ารณรงค์การปราบปรามอย่างเป็นระบบโดยใช้มาตรการทางกฎหมายที่ขู่เข็ญและการใช้กำลัง มาตรการตอบโต้ของทั้งสองชาติมีขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศคว่ำบาตรคณะผู้นำทหารเมียนมาไปแล้ว ด้วยการยึดเงินกองทุนของเมียนมาที่มีอยู่ในสหรัฐราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาเรียกร้องให้ EU และต่างประเทศร่วมมือคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาให้หนัก กลุ่มผู้ประท้วงและกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างยินดีต่อมาตรการตอบโต้ของนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา แต่นักเคลื่อนไหวบางรายต้องการให้มีมาตรการลงโทษให้หนักมากขึ้นต่อธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในมือของผู้ปกครองทหาร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าอัญมณี เบียร์ 

ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมาเผยว่า นับจากเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทางการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงไปแล้ว 521 คน ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีอู่ วิน มยินต์ ตลอดจนแกนนำพรรคเอ็นแอลดีและแกนนำประท้วง

ขณะที่ทางการเมียนมา ระดมกวาดจับแกนนำและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในช่วงกลางคืน ซึ่งมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และในตอนกลางวันหลายพื้นที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ส่งผลมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

การชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงเต็มรูปแบบ หลังตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ประท้วง และมีผู้ชุมนุมรายหนึ่ง มยา ตะเว ตะเว ไคง์ อายุ 20 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการโดนยิงด้วยกระสุนจริง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในสภาพหมดสติ และในวันศุกร์(19ก.พ.) มีคำยืนยันว่าเธอเสียชีวิตแล้ว