ต่างชาติบอยคอตเมียนมาพาเศรษฐกิจซบ?!?กระทบค้าชายแดนไทย พ่อค้าแม่สอดผวา จับตากองทหารกลุ่มชาติพันธุ์ประกาศพร้อมชนกองทัพ

1136

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาอีกครั้ง ชายแดนไทยกับเมียนมาด้านแม่สอดแม้ยังเดินหน้าปกติ แต่พ่อค้าจับตาวิกฤตการเมืองเมียนมาเครียด  หวั่นบานปลายรุนแรงหนัก ทำให้นานาชาติพากันรุมบอยคอตทางเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบการค้าขายชายแดนไทย-เมียนมาอย่างแน่นอน  ขณะที่กองทหารกะเหรี่ยงประกาศคุ้มครองมวลชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ออกมาร่วมประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมา ยิ่งพาให้น่าวิตก หวั่นสถานการณ์จะลุกลามเป็นความรุนแรงซ้ำรอยอดีต 

สถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย-เมียนมาช่วง ม.ค.-ต.ค. ปี 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,081,572 ล้านบาท ลดลง 4.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออก 626,396 ล้านบาท ลดลง 4.32% และการนำเข้า 455,176 ล้านบาท ลดลง 3.81% ไทยเกินดุลการค้า 171,219 ล้านบาท ด้านสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ น้ำมันดีเซล และ ผ้าผืนและด้าย

การชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจ ขยายวงถึงหัวเมืองชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย โดยมวลชนกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาร่วมกับชาวเมียนมา จัดการชุมนุมทั้งที่เมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สอด จ.ตาก และที่ท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง บางครั้งมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาสั่งยุติการชุมนุมชายแดนไทย-เมียนมา  กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA  กองทัพพันธมิตรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union-KNU) ได้ออกมาประกาศพร้อมปกป้องพลเมือง ประชาชนชาวกะเหรี่ยง ที่เข้าร่วมต่อต้านกองทัพเมียนมาแล้ว 

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ  ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก และผู้ประกอบการค้าใหญ่รายหนึ่งด้านชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากระทบการค้าชายแดน ว่า ช่วงนี้การค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี  ยังคงเดินหน้าไปได้อย่างปกติ และค่าเงินจ๊าตเมียนมา  100 จ๊าต แลกเงินบาทไทยได้  2.28 บาท ส่วนใหญ่ยังค้าเงินสด พ่อค้าเมียนมาแลกเป็นบาทในการซื้อสินค้า

สำหรับสินค้าอุปโภค บริโภคก็มีการกักตุนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะสั่งรายวันแบบวันต่อวัน โดยส่งข้ามทางสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 โดยในตอนนี้ทางการเมียนมายังไม่มีคำสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใด ยังสามารถสั่งซื้อขายกันได้ปกติ ไม่มีสินค้าต้องห้ามที่เกี่ยวกับความมั่นคงเหมือนที่เคยมีในอดีตด้วยซ้ำ 

นายบรรพตกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายโดยเร็ววัน เพื่อให้กลับมาเป็นปกติสุข มีการซื้อขายแลกเเปลี่ยนสินค้ากันได้ต่อเนื่อง โดยทุกวันนี้มียอดการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามแดนกันของพ่อค้าท้องถิ่นในพื้นที่ วันละประมาณ 4,000,000- 5,000,000 บาท  

“แม้โดยรวมยังปกติ แต่เราก็ต้องติดตามสถานการณ์ในเมียนมาทุกวันอย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน กลัวว่าทั่วโลกหรือนานาชาติจะบอยคอตรัฐบาลเมียนมา ซึ่งจะส่งผลทำให้การค้าไม่ปกติทันที” 

ในเชิงภาพรวมศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย จากวิกฤตเมียนมาเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย 2 ช่องทางหลัก คือ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ประเด็นการค้าชายแดน  โดยภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท ซึ่งพรมแดนไทยกับเมียนมาเป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึง75 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ทั้งนี้เริ่มมีสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ราบรื่น  ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมาก ทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลงกดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-) 0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมียนมายังต้องพึ่งพาไทย ทางการเมียนมาจึงไม่น่าจะเพิ่มมาตรการคุมเข้มทางพรมแดนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นสินค้าไทยที่น่าจะยังทำตลาดได้ คือกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ เครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันสำเร็จรูป  ซึ่งหากเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของเมียนมายังประคองตัวเติบโตได้ในปีนี้ ก็อาจผลักดันให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในภาพรวมและในกลุ่มสินค้าขั้นกลางให้เร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกได้ที่ 1.0% มีมูลค่าการค้า 87,900 ล้านบาท แต่ถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้โดยเร็ว และมีการเพิ่มใช้มาตรการเข้มงวดบริเวณพรมแดนอย่างต่อเนื่อง การส่งออกชายแดนไทยอาจหดตัวลึกลงไปอีกที่ราว (-)1.6% มีมูลค่าการค้า 85,700 ล้านบาท