จากที่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ติดตามคืบหน้าการชดใช้ความเสียหายในคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า การดำเนินการเป็นอย่างไร โดยขณะนี้ยังมีเวลาก่อนที่คดีจะขาดอายุความในเดือน มกราคม 2564 พร้อมย้ำว่า ได้ติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษ ไม่เคยทอดทิ้งเรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้ากรณีการเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการค้าข้าว 6 บริษัท ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยการซื้อและรับมอบข้าวในโครงการจำนำข้าว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กันไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดีร่วมกับจำเลยอื่นๆ
และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายวิษณุ ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวคดีจำนำข้าวหมดอายุความ ในเดือน มกราคม2564 ว่า คดีแพ่งและคดีอาญาไม่ได้ขาดอายุความ คดียึดทรัพย์และบังคับคดีก็ยังไม่ขาดอายุความ โดยอายุความการบังคับคดี คือ ถ้ายึดไม่ได้ภายใน 10 ปี ยึดมาได้เท่าไรก็เท่านั้น ส่วนคดีแพ่งฟ้องไปหมดทุกคดีแล้ว และเมื่อฟ้องอายุความก็จะหยุด
“คดีอาญาของโครงการรับจำนำข้าว มี 1,188 คดี อยู่ระหว่างกระบวนการยังไม่มีคดีใดที่ขาดอายุความ และคดียึดทรัพย์กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไปแล้วจำนวนมาก ยังต้องตามยึดต่อ เพราะไม่รู้ว่าทรัพย์อยู่ที่ไหน ขณะนี้เท่าที่ทราบในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ยึดบ้านและรถแล้ว กำลังจะนำขายทอดตลาด แต่ก็มีอีกส่วนที่กำลังพิสูจน์ว่า ใช่ของเขาหรือไม่ ยังมีเวลาตรวจสอบ ยังไม่ขาดอายุความ อย่างไรก็ตามคดีความที่จะหมดอายุความเร็วที่สุด คือ ปี 2565 แต่ถ้าดำเนินการอะไรไปอายุความนั้นก็จะไม่หมด”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าปิดประตูกลับบ้านแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่ปิด กลับมาได้ไม่มีปัญหา การยึดทรัพย์กับการกลับคนละเรื่องกัน และมีลูกหนี้เยอะแยะที่เวลานี้ถูกตามยึดทรัพย์แต่ก็ยังอยู่ไม่มีปัญหาอะไร
สำหรับเรื่องราวดังกล่าวนี้หากย้อนไปหลังการไม่ปรากฏตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 โดยกระบวนการยึดทรัพย์ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก
ต่อมาหลังศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ทางนายนพดล หลาวทอง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงมีการยึดทรัพย์ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ประกอบด้วย บ้าน-ที่ดิน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, คอนโดมิเนียมห้องชุด และอายัดบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี รวมประมาณ 30 รายการ
นั่นเองทำให้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 กรมบังคับคดี ต้องออกเอกสารข่าวชี้แจงการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกรณีจำนำข้าว ภายหลังมีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกรมบังคับคดียึดไว้และมีการทยอยขายทอดตลาดไปแล้ว
กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง
ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ทำให้กรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องดำเนินการยึด อายัด ทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่กระทรวงการคลังได้ร้องขอให้ดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2560 กระทรวงการคลังได้ขอให้กรมบังคับคดี ดำเนินการบังคับกับทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยขออายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่างๆ ซึ่งมีการส่งเงินตามคำสั่งอายัดมาเพียงจำนวน 7,937,174.58 บาท และได้มีการจ่ายเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังขอให้กรมบังคับคดี ยึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด อีกหลายรายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินเป็นเงิน 199,230,779.50 บาท ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้แล้ว 3 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,510,000 บาท และทรัพย์รายการที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของการประกาศขายทอดตลาด
การดำเนินการของกรมบังคับคดีเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังข้างต้น แต่เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ดังนั้นกรมบังคับคดีจึงต้องดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครองต่อไป โดยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลัง
23 พฤษภาคม 2563 สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข้อมูลถึงการยึดทรัพย์ในคดีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจหลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำเลยในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 28 ราย ชำระค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน
โดยก่อนหน้านี้กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) มีการแต่งตั้งคณะทำงานหาทรัพย์ และได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อขอข้อมูลว่า จำเลยในคดีนี้มีทรัพย์สินที่มีทะเบียน เช่น ที่ดิน บ้าน อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เรือ และทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ปืน อยู่ที่ใดบ้าง โดยคณะทำงานฯได้ส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินที่มีทะเบียนของจำเลยให้กรมฯแล้ว และกรมฯส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปให้คณะทำงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการอายัดทรัพย์ หรือสืบทรัพย์เพิ่มเติม
สำหรับหน่วยงาน 5 แห่ง ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ประกอบด้วย 1.กรมการค้าต่างประเทศ 2.องค์การคลังสินค้า (อคส.) 3.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) 4.กระทรวงพาณิชย์ และ5.กระทรวงการคลัง
12 กุมภาพันธ์ 2563 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า การสืบทรัพย์จากจำเลย เพื่อนำมาชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตข้าวจีทูจี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.จำเลยที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ การบังคับคดีในส่วนนี้ ได้มีการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามความผิด พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไปแล้วเมื่อปี 2559 ซึ่งในส่วนนี้กรมฯได้ร่วมกับกรมบังคับคดีได้ดำเนินการสืบทรัพย์ไปแล้ว โดยมีระยะเวลาในการสืบทรัพย์ 10 ปี เนื่องจากการสืบทรัพย์ทำได้ยาก จึงต้องค่อยๆหากันไป ส่วนทรัพย์ที่พบแล้วก็ทยอยส่งเข้าหลวงไป
2.กลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า และจำเลยผู้เกี่ยวข้อง เช่น ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร รวมถึงเครือข่าย ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินการอายัดทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการทุจริต ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) โดย 2 ปีที่ผ่านมา ปปง.ได้อายัดทรัพย์แล้ว 1.62 หมื่นล้านบาท
3.จำเลยที่เป็นบริษัทเอกชน 4 บริษัท ซึ่งศาลฯสั่งให้ร่วมกันชดใช้ความเสียหาย ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 เมื่อมีหมายบังคดีบังคดีมา กรมฯและ 4 หน่วยงาน จะร่วมกับกรมบังคับคดี ดำเนินการติดตามเรียกค่าเสียหายต่อไป โดยกรมฯเชื่อว่าบริษัทฯเหล่านี้มีทรัพย์เหลืออยู่ให้ติดตามได้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา บริษัทเหล่านี้ยังทำธุรกิจอยู่ และหากมีการโยกทรัพย์ไปที่อื่น ก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นๆ จึงมั่นใจว่าจะตามทรัพย์กลับมาได้
นั่นคือความคืบหน้าของคดีอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่แยกออกเป็นสองส่วน ซึ่งจะเห็นว่าในภาคเอกชน มีการตามยึดทรัพย์ไปได้แล้วนับหมื่นล้าน ขณะที่ในส่วนนักการเมืองอย่าง อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ มาถึงตอนนี้ เท่าที่มีการเปิดเผยออกมาก็ยังไปไม่ถึงไหน???