หมอจุฬาฯ แนะ วิธีรับมือโควิดตอนนี้ ถ้าไม่อยากลำบากกันระยะยาว

2577

จากกรณีข่าวการติดเชื้อในพื้นที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก สิงห์บุรี โดยล่าสุดมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ต่างคุมเข้มการลักลอบผ่านชายแดน ที่คนลักลอบเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ

ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อหลายจังหวัด ซึ่งมีต้นตอจากมีผู้ลักลอบเข้าเมืองด่านท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงรายว่า “สัญญาณที่น่ากังวล…”

หนึ่ง วันนี้มีออกข่าวว่ากลุ่มคนลักลอบเข้าเมืองบอกข้อมูลจริง 50% เพราะกลัวเรื่องผิดกฎหมาย จนต้องหาทางตรวจสอบอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ตรวจสอบซิม สอง ข่าวออกมาอีกว่าประกาศให้คนไปปาร์ค และงานดนตรี ไปรายงานตัว รวมถึงสังเกตอาการ

สองเรื่องนี้อาจสะท้อนถึงความไม่แน่ใจในข้อมูลรายละเอียดการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้ติดเชื้อ และอุปสรรคในการสืบหาคนที่สัมผัสความเสี่ยง หากเป็นเช่นที่วิเคราะห์ ก็จะสอดคล้องกับบทเรียนต่างประเทศที่พบว่า ระบบการติดตามตัวผู้สัมผัสความเสี่ยง หรือ contact tracing system นั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำได้ เนื่องจากต้องอาศัยความจริงใจซื่อสัตย์ ความร่วมมือ ความจำ ฯลฯ ต่อให้ใช้เครื่องมือ เช่น แอพ กำไล หรืออื่น ๆ มา ก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงไม่สามารถตอบสนองต่อปริมาณเคสที่มากมายได้ทันเวลา จนนำไปสู่การระบาดซ้ำได้

ดังนั้นหัวใจสำคัญที่สุดของประเทศ จึงเป็นระบบคัดกรองกักตัว 14 วัน โจทย์หลักจึงเป็นเรื่องการบังคับใช้ ไม่ละเว้น และต้องไม่บั่นทอนให้ระบบมาตรฐาน 14 วันอ่อนแอลง เช่น การลดวันกักตัว กักบ้างไม่กักบ้าง หรือไม่กักเลย ในมุมมองของผม เรื่องดังกล่าวหากถูลู่ถูกังทำ จะเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ และจะส่งผลกระทบวงกว้าง ลำบากระยะยาว