ททท.มองข้ามช็อต?!? เล็งเก็บค่าประกันภัยนทท.ต่างชาติ 300 บาท/คน/ครั้ง เข้ากองทุนพัฒนาท่องเที่ยว 3,000 ล้าน

1712

บอร์ดนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเห็นชอบแนวทางสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จัดหาประกันภัยคุ้มครองทุกราย เก็บรายละ 10 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 300 บาทต่อคนต่อราย พร้อมยืนยันมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดไม่ผ่อนปรน มั่นใจมาตรการรัฐ ดูแลความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่จะมาจากภายนอกได้ ขณะเดียวกันได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกระดับ แต่รัฐบาลจะประมาทพิษภัยของโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ไม่ได้ แม้จะคาดหวังว่ามีวัคซีนแล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ เรื่องนี้ยังไม่มีหลักประกัน ความไม่แน่นอนยังคงอยู่

ผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก(ม.ค.-ต.ค.63) ลดลง 900 ล้านคน หรือลดลง 72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลง 33.21ล้านคน หรือ ลดลง 83.22% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่เที่ยวในประเทศ ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 90.32 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 82.42 ล้านคน-ครั้ง หรือลดลง 47.71% .การลดลงดังกล่าวส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 

วันที่ 14 ม.ค. 2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่1/2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า

ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ความคืบหน้าของมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)  ตลอดจนพิจารณาอนุมัตินโยบายด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ  กล่าวคือพิจารณาแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านกลไกต่างๆ 

ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 300 บาท ต่อคนต่อการเข้ามาประเทศไทยในแต่ละครั้ง เพื่อสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวจำนวน 10 ล้านคนจะทำให้ได้เงินกองทุนจำนวน 3,000 ล้านบาทไว้ใช้พัฒนาการท่องเที่ยวต่อไป

วัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย  โดยจะจัดเก็บรูปแบบออนไลน์ และจะได้จัดทำรายละเอียดต่อไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ให้สำนักงานปลัดการะทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดเก็บในรายละเอียด แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป  

นอกจากนี้จะได้ปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยว 5 มาตรฐาน ประกอบด้วย 1.มาตรฐานด้านที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทโรงแรม  2.มาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว  3.มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการเที่ยว  4.มาตรฐานบริการอาหารเพื่อการท่องเที่ยว และ 5.มาตรฐานสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวประเภทสินค้าอัญมณี 

สำหรับการปรับปรุงด้านระยะเวลาการรับรองจะมีการปรับปรุงระยะเวลารับรองมาตรฐานให้เหลือ 2 กลุ่มคือ กลุ่มรับรองให้ 3 ปี และ 1 ปี จากเดิมที่มี 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่รับปรุงให้ 1,2และ 3ปี  ซึ่งภายหลังปรับปรุงนั้นจะทำให้กลุ่มที่ได้รับการรับรอง 3 ปี มีทั้งหมด 54 มาตรฐาน และได้รับการรับรอง 1 ปีมี 2 มาตรฐาน