พัฒนา5G-สมาร์ทซิตี้-โลจิสติกส์ ดึง 50 ซีอีโอจีนลงทุนไทย อาศัยทูตไทยทั่วโลกกองเชียร์

1926

EEC เปิดเผยการจัดวีดิโอคอนเฟอร์เร้นซ์ กับ 50 ซีอีโอบริษัทจีน พร้อมเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน ในงบประมาณ แสนล้านปี 2564 แก้ปัญหาแหล่งน้ำและปัญหาวิกฤติแรงงาน รองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งประสานกับ บีโอไอ และขอทุตไทยทั่วโลก ช่วยเชิญชวนโน้มน้าวให้นักลงทุนปักหมุดประเทศไทย เร่งพัฒนา 4 ด้านชูจุดแข็งประเทศไทย “โลจิสติกส์-ระบบ 5G-สมาร์ซิตี้-อุตฯสุขภาพ”

นายคณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่กลุ่มธุรกิจได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ซึ่งสกพอ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางผ่อนปรน รวมทั้งสนับสนุนการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศแบบ “Business Bubble” เป็นลำดับแรกในพื้นที่เฉพาะเจาะจง อาทิ พื้นที่อีอีซี  ทั้งนี้ได้จัดวีดิโอคอนเฟอร์เร้นซ์กับผู้บริหารระดับสูงบริษัทยักษ็จีน 50 แห่ง เพื่อกระตุ้นการตัดสินลงทุนในไทย

สำหรับผลกระทบจากโควิด-19 หนักมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2  แต่เชื่อว่าภาพรวมไตรมาส 3-4 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ แต่ทางสำนักงานอีอีซี ยังไม่ขอประเมินภาพรวมทั้งปี และอีอีซี ยังไม่มีการปรับเป้าหมายยอดทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะมีมูลค่าโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่อีอีซี 1 แสนล้านบาท ส่วนการลงทุนเดิมผ่านบีโอไอ อีก 2 แสนล้านบาท รวมเป็นพื้นที่การลงทุนรวมในพื้นที่อีอีซี ปีละ 3 แสนล้านบาท  สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่  จีน  ตามด้วยญี่ปุ่น ประมาณประเทศละกว่า 8 พันล้านบาท ส่วนสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน ลงทุนประมาณประเทศละ 6 พันล้านบาท

การเข้ามาลงทุนในอีอีซีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ทั้งการย้ายฐานของนักลงทุนจีนเอง ญี่ปุ่น และนักลงทุนยุโรปก็ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลงทุนในอุตสาหกรรม 5G จะทยอยเข้ามาลงทุน เนื่องจากไทยสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี  กลุ่มธุรกิจที่จะย้ายเข้ามาอีก เช่น เฮลแคร์ การรักษาพยาบาลสอดคล้องกับการที่ไทยตั้งเป้าเป็นเมดิคัลฮับ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพทั้งอาหารและบริการต่าง ๆ  ซึ่งทางสำนักงานอีอีซีจะเร่งทำงานในช่วง 4-6 เดือนจากนี้ไป เพื่อให้ต้นปี 2564 นักลงทุนเริ่มมีการลงทุนได้ 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอีอีซี ยังมอบหมายให้อีอีซีและบีโอไอ พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรม S-CURVE รวมถึงการศึกษาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ามาลงทุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะให้สิทธิประโยชน์อย่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านที่ให้มากกว่าไทย เช่น เวียดนาม ให้พื้นที่ลงทุนฟรีและไม่มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้หากยังไม่มีกำไร เป็นต้น

ชูจุดแข็งประเทศไทย-เร่งลงทุนเมกะโปรเจ็กด้านคมนาคมขนส่งตามเป้าหมาย งบฯแสนล้าน-2564

-ไฮสปีดไทยจีน เฟส 2 -ไฮสปีดอีอีซี เฟส 2 -ทางคู่มาบตาพุด – ด่านคลองใหญ่ -มอเตอร์เวย์ ตาก – แม่สอด

เดินหน้าพัฒนา 5G และ Smart City ให้เป็นจริงโดยเร็ว

รัฐบาลประกาศตั้งคณะกรรมการด้านดิจิทัลระดับชาติ และผลักดันการทำงานอย่างจริงจัง ภายใต้นโนบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยโครงข่าย 5G มีความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ในเขตพื้นที่เทศบาล และ 50 Mbps ในทุกพื้นที่ รวมถึงมีโครงข่าย 5G ที่เข้าถึงร้อยละ 98 ของประชากร ทุกพื้นที่ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC และประชากรทั้งหมดในแต่ละจังหวัดที่ได้รับการประกาศเขตให้เป็น Smart City

มาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่กำหนดให้การวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับระบบน้ำและไฟ 

2) มาตรการยกเลิกและลดข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ สามารถลดขั้นตอนการติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยไม่บังคับให้ทำประชาพิจารณ์ 

3) มาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ ส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีเงินได้ (Corporate Tax) สำหรับการลงทุนในโครงข่าย และอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงาน อาคาร หมู่บ้าน และ 

4) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ควรมีมาตรการ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

บีโอไอ กระชับสัมพันธ์องค์กรไทย-จีน

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีนประจำประเทศไทย (CCPIT) และสมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน ได้จัดการสัมมนาการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการจีนในประเทศไทย และนักลงทุนในประเทศจีนที่สนใจ ผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “Think Resilience, Think Thailand” เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 เพื่อนำเสนอโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงโควิด พร้อมทั้งให้บริการสมาร์ท วีซ่า แก่นักลงทุนจีน ในการนี้ เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนระหว่างไทย-จีน ให้กระชับแน่นแฟ้นขึ้น มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 ราย ซึ่งสอดคล้องก้บแผนงานของ EEC

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.2563) มีโครงการลงทุนจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 82 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,069 ล้านบาท นับว่าสูงที่สุดของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์และพลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเบา เช่น กระเป๋าเดินทาง เครื่องกีฬา และเฟอร์นิเจอร์

ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2562และมองว่าในช่วงปี 2563 – 2564  การลงทุนจากจีนจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ -ผลจากสงครามการค้า  ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างการลงทุนของหลายบริษัทเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังโควิด  -ทิศทางการมุ่งออกสู่ต่างประเทศของธุรกิจจีน  -ต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้นมากเป็นปัจจัยผลักดันด้วย 

ขณะที่ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและนานาประเทศ โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในอีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก อีกทั้งมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร และมีสิทธิประโยชน์จูงใจจากภาครัฐ ซึ่งบีโอไอหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้นักลงทุนจีนมองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และมีความเข้าใจในมาตรการสนับสนุนต่างๆ  ช่วยตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วย