นายกฯขอบคุณ-น้อมรับคำแนะนำทูตห้าประเทศ!?! แจงหลายเรื่องดำเนินการแล้ว ยันพร้อมต้อนรับนักธุรกิจลงทุนทุกประเทศ 

2749

ฮือฮาไม่น้อยที่อยู่ๆเอกอัคราชทูต 5 ประเทศตั้งโต๊ะกลมกับสื่อ แถลงชี้แนะรัฐบาลไทย บอกวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 และบิ๊กตู่ก็เป็นตัวแทนประเทศไทยขอบคุณและน้อมรับคำชี้แนะไปเรียบร้อย ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไรบ้างตลอดเวลา ที่เผชิญกับการระบาดโควิด-19 ทุกข้อที่เสนอมาดูเหมือนว่ารัฐบาลทำหมดแล้ว แต่เสนอให้เร่ง 10 ข้อเพื่อไทยจะได้ที่ 10 ตามมาตรฐานธนาคารโลก วิถีไทย”ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” โดยเฉพาะกับเหล่ามหาอำนาจทั้งหลาย รัฐต้องดูแลโอกาสของคนไทยที่จะเติบโตไปด้วยและเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลควรมุ่งสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนไทยเป็นหลักเรื่องนี้ต้องเร็วช้าไม่ได้  เรื่องอื่นต้องรอบคอบไว้ก่อนดีแล้ว

นายกฯน้อมรับคำชี้แนะ 
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากเอกอัครราชทูตห้าประเทศ ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตอังกฤษ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตเยอรมนี และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ที่เสนอในเวทีเสวนาผ่านสื่อมวลชน ทุกข้อเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากผลกระทบโควิด19  อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอยู่  ทุกเรื่องจะรับไปพิจารณา และมีหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว 

ทั้งนี้จะพัฒนาให้ดีขึ้นอีกเพื่อครอบคลุมภาคส่วนต่างให้มากขึ้น อาทิ 

  • การขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและปฏิรูประบบราชการ ขณะนี้ 
  • ส่วนราชการได้ลดขั้นตอนและระยะเวลา กว่า 523 ใบอนุญาต ลดสำเนาเอกสารราชการกว่า 1,212 รายการ ให้บริการรูปแบบ e-Services กว่า 280 บริการ และ

  • ลดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ลดภาระประชาชน 392,050,315 บาท 
  • ในส่วนของการพัฒนาระบบศุลกากร ทางกรมศุลกากรมีจัดตั้งระบบ National Single Window : NSW ทำหน้าที่เป็นระบบกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของประเทศ เป็นการเชื่อมโยง ข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมี เป้าหมายสาคัญในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการนาเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศไทย
  • ส่วนประเด็นอื่น อาทิ เรื่องการยกระดับฝีมือแรงงาน ก็เป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาลที่มุ่งเน้นเรื่องพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกรรมใหม่ (หุ่นยนต์ ดิจิทัล เชื้อเพลิง/เคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร การบินและโลจิสติกส์) 
  • เรื่องปฏิรูปกฏหมาย รัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นภาระประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น 

นางสาว รัชดา กล่าวย้ำว่า ท่านนายกฯขอบคุณในความปรารถนาดีของท่านเอกอัครราชทูตที่มีต่อประเทศไทย เป็นการแสดงถึงมิตรภาพที่มีต่อกัน อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ให้เห็นว่า ภาคเอกชนของประเทศทั้งห้านั้นให้ความสนใจที่จะมาทำการค้าและการลงทุนในไทย และเห็นศักยภาพของประเทศที่จะเติบโตในระยะยาว ประเด็นข้อเสนอใดที่เป็นเรื่องใหม่จะรับไปพิจารณา ประเด็นที่ดำเนินการไปแล้วก็อาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าระบบจะเสร็จสมบูรณ์

5 ทูตแนะไทย 10 ข้อฟื้นฟูศก.หลังโควิดระบาด
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย อัลลัน แมคคินนอน, เอกอัครราชทูตอังกฤษ ไบรอัน เดวิดสัน, เอกอัครราชทูตเยอรมัน เกออร์ก ชมิดท์ และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น คะสุยะ นะชิดะ ร่วมสนทนาโต๊ะกลมกับสื่อมวลชนเพื่อเน้นย้ำมาตรการที่ไทยสามารถใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แบบเร่งด่วน ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ข้อแนะนำด้านนโยบายเหล่านี้พัฒนาขึ้นจากข้อคิดเห็นของบริษัทกว่า 3,700 แห่งที่เป็นสมาชิกหอการค้าในไทยของทั้ง 5 ประเทศ โดยมีทั้งหมด 10 ข้อ ได้แก่

1.ทำให้ระบบของหน่วยงานศุลกากรง่ายขึ้นและนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาช่วยเพื่อให้การนำเข้าสินค้าสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง 
2.จัดตั้งพิธีการศุลกากรตามระบบบัญชีที่สามารถระบุความเสี่ยงและทำให้ระบบประมวลภาษีศุลกากรทันสมัย
3.ดำเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดความซ้ำซ้อน
4.เพิ่มแพลตฟอร์มรูปแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการทำงานอยู่บนระบบออนไลน์ภายในปี 2568
5.ให้ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ 
6.สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล 
7.ปฏิรูปข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานฝีมือชาวต่างชาติ และลดขั้นตอนขอวีซ่าสำหรับแรงงานฝีมือ

8.เน้นความสำคัญของความโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท 
9.ปรับปรุงกระบวนบังคับคดีล้มละลาย รวมทั้งตีพิมพ์และจัดทำดัชนีกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายทั้งหมด
10.เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์การอาหารและยาออกเอกสารแบบดิจิทัล และรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หากทำได้ทั้งหมดนี้เชื่อว่าไทยจะมีค่าดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกที่ดีขึ้น และนักลงทุนก็จะหันมาสนใจยิ่งกว่าชาติอื่นๆในภูมิภาค

นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตถนนวิทยุ กทม. ต้อนรับนายอัลลัน แม็คคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และนายคาซุยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ก่อนร่วมกันออกแถลงการณ์เสนอแนะรัฐบาลไทย ถึง 10 มาตรการ เพื่อปฏิรูปและยกระดับไทยสู่ 10 อันดับ ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ตามดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก “เวิลด์ แบงก์” ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที

กลุ่มเอกอัครราชทูตทั้ง 5 ชาติ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไต่อันดับดัชนีของเวิลด์ แบงก์ ได้อย่างรวดเร็ว โดยจากอันดับที่ 46 สู่อันดับที่ 26 และ 21 ในช่วงไม่กี่ปี หากไทยนำมาตรการ 10 ข้อมาบังคับใช้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขึ้นสู่ 10 อันดับแรก ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด พร้อมจะช่วยปูรากฐานสำหรับสภาพแวดล้อมในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนช่วยสนับสนุนการแข่งขัน ส่งเสริมความโปร่งใส และทำให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งนายดีซอมบรี กล่าวว่าไทยมีเวลาคว้าช่องโอกาสนี้ภายในกรอบเวลา 3-6 เดือน

นอกจากนี้ นายชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ยังมีมุมมองด้วยว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว แต่ควรเตรียมตัวว่าไทยอยากจะอยู่จุดไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า เข้าใจว่าต้องรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา แต่ถ้าตัดสินใจได้ดีจะช่วยให้ไทยยกระดับในเรื่องห่วงโซ่อุปทานได้ พร้อมอยากให้พัฒนาระบบการศึกษา การฝึกภาษา เรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking และวางแผนระยะยาว ไม่ใช่คิดกันเพียงปีสองปี และอยากให้ประเทศไทยใช้หลักมาตรฐานแบบเปิดกว้าง Open Standard เพื่อจะได้ไม่ยึดติดกับมาตรฐานเดียว

ขณะที่นายแม็คคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ได้ให้ความเห็นกรณีการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับไทยในการเข้าร่วมความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP 
ส่วนนายดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ตอบคำถามเรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยถอนตัวไปว่า รัฐบาลสหรัฐฯในตอนนี้ยังไม่มีแผนจะกลับเข้าร่วมแต่อย่างใด และเรื่องผลการเลือกตั้งยังไม่สรุป จึงไม่อยู่ในจุดที่สามารถตอบได้ เมื่อสื่อมวลชนได้สอบถามเอกอัครราชทูตออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแม็คคินนอนได้ยิ้มพร้อมตอบว่า ยินดีต้อนรับสหรัฐฯกลับสู่ CPTPP ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับนายนาชิดะที่ผายมือไปทางเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย พร้อมกล่าวว่าขอตอบแบบเดียวกัน