ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร โดยเริ่มการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกพูดถึงอย่างมากสำหรับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่มีขบวนเสด็จ พร้อมยังมีการประกาศชุมนุมต่อเนื่อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด ทางด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการฯ มธ. โพสต์ข้อความว่า ฝ่ายตรงข้ามม็อบบอกว่า ม็อบกระทบความมั่นคง และ มีการขัดขวางขบวนเสด็จของพระราชินี ทั้งยังมีการกล่าวคำหยาบคาย ด่าทอ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 การสลายการชุมนุม ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่ได้ใช่แก๊สน้ำตา
ฝ่ายสนับสนุนม็อบบอกว่า ม็อบเพียงเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ รับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สน้ำตา ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ และไม่ได้มีการทำอะไรที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด ม็อบไม่ได้ทำอะไรผิด ความผิดอยู่ที่ขบวนเสด็จเลือกใช้เส้นทางมาผ่านม็อบเอง
หากเราพิจารณาจากหลักฐาน ข้อเท็จจริง พิจารณาด้วยใจเป็นธรรม โดยปราศจากอคติทั้งปวง เราก็จะบอกได้ว่า ฝ่ายใดพูดความจริง ฝ่ายใดพูดความเท็จ กล่าวถึงที่สุด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลจากเกมการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มคน 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งได้อำนาจรัฐจากการทำรัฐประหารในสถานการณ์ที่ประเทศถึงทางตัน และได้สืบทอดอำนาจต่อ จากการตั้งพรรคการเมือง และจากการเลือกตั้ง และต้องการรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด ไม่ต้องการให้ฝ่ายที่ถูกรัฐประหารกลับมามีอำนาจอีก
อีกฝ่ายหนึ่งต้องการได้อำนาจ จึงตั้งพรรคการเมือง และอาศัยความเชี่ยวชาญการใช้ social media ทำให้พรรคตัวเองได้ที่นั่งส.ส.จนเป็นพรรคใหญ่ จากการขายนโยบายที่โดนใจคนหนุ่มคนสาว และจากการโจมตีอีกฝ่ายว่า เป็นเผด็จการ และต้องการสืบทอดอำนาจ
หลังเลือกตั้ง ฝ่ายหลัง เป็นผู้พ่ายแพ้เกมการเมืองต่ออีกฝ่ายอย่างหวุดหวิด จึงทำให้ไม่ได้อำนาจอย่างที่ต้องการ แต่หวังว่าจะได้อำนาจจากการล้มอีกฝ่ายในสภา ด้วยอีกฝ่ายมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ
อย่างไรก็ตาม นับวันคะแนนเสียงของฝ่ายที่อยู่ในอำนาจกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการแปรพักตร์ของส.ส.อีกฝ่าย และจากการได้ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาทุกครั้ง การล้มฝ่ายที่อยู่ในอำนาจ โดยอาศัยสภาจึงเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้แกนนำของฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ ยังพลาดท่าสะดุดขาตัวเอง ถูกเพิกถอนการเป็น ส.ส. และยังพลาดซ้ำสองจนพรรคตัวเองก็ต้องถูกยุบ ทำให้ตัวเองและแกนนำพรรคต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ การล้มฝ่ายที่อยู่ในอำนาจลงให้ได้จึงเป็นลำดับความสำคัญลำดับแรกที่ต้องทำให้ได้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็มึความเป็นไปได้ แต่ก็ดูเหมือนฝ่ายที่ต้องการอำนาจจะไม่สามารถทนรอต่อไปอีกได้
ด้วยเหตุนี้ วิธีเดียวที่จะล้มอีกฝ่ายให้ได้เร็วที่สุดคือการใช้มวลชนกดดัน แม้ว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจจะยังไม่ได้ทำอะไรผิดอย่างเด่นชัด แต่ด้วยการใช้ social media ป้อนข้อมูลว่าอีกฝ่ายคือเผด็จการ และเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงของประเทศ หากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ประเทศจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
ด้วยความเชื่อว่า การล้มอีกฝ่ายเพื่อให้ตัวเองได้อำนาจ จะทำไม่ได้หากยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เชื่อว่า คอยค้ำจุนอยู่ จึงจำเป็นต้องล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างน้อยก็ต้องจำกัดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงให้เหลือน้อยที่สุด
วิธีการคือการใช้ social media สร้างกระแสความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในกลุ่มคนหนุ่มคนสาว ที่เกิดและโตไม่ทันที่จะได้มีความใกล้ชิด และได้เห็นคุณูปการขององค์พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน และในขณะเดียวกันก็โจมตีฝ่ายที่อยู่ในอำนาจในทุกเรื่อง ตอกย้ำเสมอว่าเป็นเผด็จการ
เมื่อได้จังหวะ เมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศเบาบางลงจนแทบไม่มีปัญหาแล้ว แม้ในต่างประเทศทั่วโลกยังคงหนักหนาสาหัส อยู่แต่ก็ไม่นำพา จึงดำเนินการสนับสนุนให้แนวร่วมก่อม็อบขึ้น เพื่อล้มอีกฝ่าย และล้มสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยกันในคราวเดียว โดยอ้างว่าต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างาม
ขณะนี้แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการจับกุมแกนนำหลายคน แต่การชุมนุมยังคงมีต่อไป และมีทีท่าว่าจะมีคนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือ ในขณะที่คนที่ยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เริ่มที่จะทนกันไม่ไหว การกระทำที่ย่ำยีสถาบันพระมหากษัตริย์กลับยิ่งถี่ขึ้น มากขึ้น รุนแรงขึ้น
หากมวลชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพลังเงียบที่เริ่มมีความเห็นใจสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น เกิดทนไม่ไหวขึ้นมาจริง ๆ ไม่กล้าคิดเลยว่า อะไรจะเกิดขึ้น และผลสุดท้าย ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร