สหรัฐฯ-ออสซี่เต้น พลาดท่าช้ากว่าจีนไปก้าวหนึ่งจนได้ หลังจากกระทรวงต่างประเทศมะกัน เพิ่งประกาศเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปหมู่เกาะโซโลมอน หวังสกัดการลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน แต่คล้อยหลังแค่หนึ่งวัน ปักกิ่งก็ประกาศข่าวการลงนามเป็นที่เรียบร้อย สื่อลงสำรวจความคิดของชาวบ้านตลอดจนนักการเมืองของหมู่เกาะพบว่า ไม่มีใครรังเกียจจีนเพราะอยู่ภายใต้การดูแลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาหลายสิบปีก็ไม่มีการพัฒนา เมื่อมีคนยื่นมือมาช่วยย่อมไม่ปฏิเสธ
วันที่ 23 เม.ย.2565 สำนักข่าวอัลจาซิรา รายงานว่า สืบเนื่องการแถลงของกระทรวงต่างประเทศจีนเมื่อวันอังคารที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า จีนและโซโลมอนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอน ด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย โดยมีนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับนายเจเรเมียห์ มาเนเล รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของหมู่เกาะโซโลมอนเป็นตัวแทนผู้ลงนาม
โฆษกหวัง ยังย้ำด้วยว่า จุดมุ่งหมายของกรอบความตกลงฉบับนี้มิได้มุ่งเป้าประสงค์ไปยังชาติที่ 3 ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของหมู่เกาะโซโลมอน ในการรักษาความสงบสุขมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านการรักษาระเบียบของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการรับมือกับภัยธรรมชาติ
เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียกล่าวหาว่า จีนชิงลงมือ ก่อนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 คน คือนายเคิร์ต แคมป์เบล และนายแดเนียล คริเทนบริงก์ กำลังจะไปเยือนหมู่เกาะโซโลมอนในสัปดาห์นี้ เพื่อถ่ายทอดให้รัฐบาลกรุงโฮนีอารา รับทราบถึงความวิตกกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ซึ่งรวมทั้งออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กรณีจีนเข้ามาใกล้ชิดและมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้
เกมชิงไหวชิงพริบ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแผ่ขยายอิทธิพลแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาช้านาน เริ่มร้อนระอุ นับตั้งแต่หมู่เกาะโซโลมอนสลัดทิ้งไต้หวัน และหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งเมื่อปี 2562 จากนั้นอีกไม่กี่วัน ชาติหมู่เกาะในแถบนี้อีกรายคือ หมู่เกาะคิริบาส ก็ดำเนินรอยตาม จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนก็ยอมรับว่า ได้มีการร่างข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีนแล้ว และมาวันนี้โลกก็ได้รับรู้ว่า โซโลมอนได้เลือกลงนามสัญญาความมั่นคงกับจีนเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSC) ยังคงยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นมากขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางทะเล ไปจนถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ วิกฤตโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่น่าท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น
แต่ความคิดเห็นของประชาชนหมู่เกาะโซโลมอนเองกลับบอกว่า ให้ความสนใจแก้ไขความยากจนมากกว่าโดยไม่จำเป็นต้องต่อต้านจีน เพราะความล้าหลังของประเทศเล็กๆในแปซิฟิกแห่งนี้ ดำรงอยู่มาช้านาน ทำให้พร้อมเปิดรับอิทธิพลจากมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าเสมอ ในช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาหลายสิบปี หมู่เกาะฯยังย่ำอยู่กับที่ ซ้ำมีความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชนมากขึ้นด้วย
ล่าสุดสหรัฐฯ และออสเตรเลียกำลังสร้างสถานทูตใหม่และเสนอเงินสดหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนในหมู่เกาะโซโลมอน หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับใหม่ระหว่างโฮนีอาราและปักกิ่งที่เจ้าหน้าที่ตะวันตกระแวงว่าเป็นการเปิดประตูสู่ฐานทัพทหารจีน ในแปซิฟิกใต้
แต่กลยุทธ์นี้แทรกแซงหรือข่มขู่จะไม่เกิดผล จนกว่าชาติตะวันตกจะจัดการกับปัญหาพื้นฐานด้านสุขภาพ การศึกษา และการว่างงาน ที่ทำลายสถาบันประชาธิปไตยของชาวหมู่เกาะ และอนุญาตให้จีนตั้งหลักอย่างแข็งแกร่งในประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในแปซิฟิกใต้ซึ่งมีประชากร 700,000 คน ซึ่งมีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตามที่นักการเมืองฝ่ายค้านและผู้นำชุมชนในหมู่เกาะให้สัมภาษณ์กับสื่ออัลจาซีรา
เซลซัส อิรอกวาโต ตาลิฟิลู(Celsus Irokwato Talifilu) ที่ปรึกษาทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี มาเลียตา (Malaita) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของเกาะโซโลมอน แสดงความรู้สึกว่า
“ออสเตรเลียเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของเราตั้งแต่ปี 1970 และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในขณะนี้ มีโครงการพัฒนามากมาย แต่ไม่มีผลงานใด ๆ เพราะความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาเข้าสู่รัฐบาล และเงินก็อาจยังไม่ได้จัดสรรให้ไหลลงสู่พื้นที่ในชนบทที่มีประชากร 80 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ ทันกับปัญหาต่างๆ”
นายกรัฐมนตรีมนัสเสห์ โซกาวาเร (Manassey Sogavare)ปกป้องข้อตกลงด้านความมั่นคงว่าลงนามไปตามความจำเป็นเพื่อแก้ไข “สถานการณ์ความมั่นคงภายใน” ในหมู่เกาะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการจลาจลต่อต้านจีนในเดือนพฤศจิกายนมีทีผ่านมา ท่ามกลางความกังวลของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
โซกาวาเร ปฏิเสธว่า จีนไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งฐานทัพทหารในประเทศ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของการสู้รบที่เป็นผลสืบเนื่องมากที่สุดระหว่างกองทหารสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง
เขากล่าวว่า“เราไม่ได้ถูกเพื่อนใหม่กดดันเรื่องนี้แต่อย่างใด” โซกาวาเรกล่าวกับรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว และเสริมว่าเขาไม่มีเจตนาจะ เลือกข้างเพื่อการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ทำเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจและความมั่นคง”
แม้ว่าข้อความอย่างเป็นทางการของข้อตกลงจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่สื่อตะวันตกอ้างว่าร่างเอกสารที่รั่วไหลออกมากล่าวว่า รัฐบาลโฮนีอาราอาจขอให้ปักกิ่งส่งตำรวจและบุคลากรทางทหารไปยังประเทศ “เพื่อช่วยในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม”ยามเกิดวิกฤต กระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบโต้ว่า ตะวันตกจงใจสร้างความตึงเครียดเกินจริง เกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว และอธิบายว่าเป็น “การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือตามปกติระหว่างสองประเทศอธิปไตยและอิสระ”