พ่อค้าออนไลน์ อ้างถูกญาติแฟนแกล้งแจ้งจับ ม.112 สุดท้าย!เจอความจริงเต็มๆ-อัยการสั่งฟ้องพบความผิดหลายกรรม

1714

พ่อค้าออนไลน์ อ้างถูกญาติแฟนแกล้งแจ้งจับ ม.112 สุดท้าย!เจอความจริงเต็มๆ-อัยการสั่งฟ้องพบความผิดหลายกรรม

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าออนไลน์ วัย 30 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และเป็นโพสต์จากเพจ KTUK – #คนไทยยูเค จำนวน 2 โพสต์

ซึ่งในคดีนี้มี น.ส.ภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา ต่อมาพบว่าเป็นญาติทางฝั่งฝ่ายหญิงที่คบหากับจิรวัฒน์ โดยอ้างว่าญาติคนดังกล่าวยังเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. ซึ่งทั้งคู่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้

นายสมพงษ์ ศรีธูป พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า ในคดีนี้จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฏภาพของในหลวงรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยสามารถกวาดซื้อวัคซีนมากักตุนไว้ที่ประเทศตัวเอง โครงการดังกล่าวมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วม ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามาได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนในไทยถูกผูกขาดโดยบริษัทที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าวัคซีน Sinovac เข้ามาใช้ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ

อัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาล ที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ที่ทรงถือหุ้นใหญ่อยู่และหาผลประโยชน์จากการจําหน่ายวัคซีนโควิด-19 กับประชาชน และทําให้รัฐบาลไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX คอยแต่วัคซีนที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ทําให้ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนล่าช้า และวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลจัดหาที่มีคุณภาพต่ํา

2. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เป็นภาพหนังสือราชการ 4 ฉบับ และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความประกอบโพสต์เกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังมีลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 พร้อมลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

โดยอัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงเข้ามาก้าวก่ายหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการแต่งตั้งโยกย้ายของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ

3. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยานมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์

1. การแบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้
2. กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง
3. ขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

อัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงขยายพระราชอํานาจเกินขอบเขตไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และมีการโอนทรัพย์สินของชาติไปเป็นของตนเอง และเมื่อมีการทําผิดพลาดแล้วประชาชนสามารถตักเตือนกษัตริย์ในทางที่ถูกต้องได้

ทั้งนี้ อัยการระบุว่า ภาพและข้อความทั้ง 3 โพสต์ที่จำเลยได้แชร์ในเวลาต่างกันนั้น มีเนื้อหาลักษณะเสียดสี ประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีอย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร